ผู้สูงอายุป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ!

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและของโลก โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อเกิดโรคแล้ว ผู้ป่วยอาจถึงกับเสียชีวิตหรือมีความพิการอย่างถาวรที่เรียกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีความพิการทุพพลภาพหลงเหลืออยู่ ทำให้เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม แต่หากได้รับการฟื้นผูอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยทุกรายที่มีความพิการหลงเหลืออยู่ควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเร็วที่สุด หลังจากอาการทางระบบประสาทและสัญญาณชีพคงที่จนพ้นวิกฤติแล้ว

เราไปทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมองให้มากขึ้นกันก่อดีกว่าค่ะ

เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสหายจากอัมพาตหรือไม่

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากเซลล์สมองสามารถปรับตัว และถึงแม้สมองบางส่วนจะเสียไปอย่างถาวรจากการขาดเลือดหรือมีเลือดออกไปกดเบียดสมอง สมองส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งสมองด้านตรงกันข้ามมักทำงานแทนกันได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ทั้งนี้สมองส่วนที่จะมาทำงานแทนนั้นจะต้องได้รับการกระตุ้นโดยเฉพาะการฟื้นฟูที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องระยะเวลาและปริมาณ ภายในระยะเวลา 1-2 เดือน ผู้ป่วยบางรายสามารถฟื้นตัวได้ถึงร้อยละ 80-90 ในขณะที่บางรายต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานมากกว่า 6 เดือน โดยการฟื้นตัวจะมีมากในช่วง 3 เดือนแรก หลังเป็นโรค ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการดีขึ้นหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤติในช่วง 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว บางรายอาการอาจดีขึ้นจนหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจมีความพิการอย่างถาวร ทั้งนี้การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค ตำแหน่งของสมองที่มีการขาดเลือด และขนาดของบริเวณที่สมองขาดเลือด นอกจากนี้ปัจจัยอื่นที่อาจมีผลต่อการฟื้นตัว ได้แก่ ความสมบูรณ์ของสมองส่วนที่ไม่ได้เกิดโรค

ตัวอย่าง ผู้ป่วที่สูงอายุจะมีโอกาสฟื้นตัวได้น้อยกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อย เนื่องจากมีการเสื่อมและฝ่อของสมอง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้เท่ากับคนที่อายุน้อยกว่า หรือในผู้ที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำหลายครั้ง ทำให้สมองเสียหายหลายตำแหน่ง โอกาสพ้นวิกฤตก็จะน้อยกว่า ได้รับการฟื้นฟูเร็วหรือช้า รวมทั้งรูปแบบของการฟื้นฟู

ผลการฟื้นฟูจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้นขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ได้แก่ การรับรู้ ความจำ อารมณ์ การฟื้นตัวของสมอง รวมถึงการให้การสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมอย่างเหมาะสม

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรฟื้นฟูอย่างไร

ผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะแรกๆ อาจจะมีกล้ามนื้อแขนขาอ่อนแรง ส่วนใหญ่มักเป็นแบบครึ่งซีกข้างใดข้างหนึ่ง เป้าหมายการฟื้นฟูในระยะนี้ คือ ป้องกันไม่ให้ข้อต่อต่างๆ ยึดติด กล้ามเนื้อฝ่อลีบ และลดอาการบวม รวมทั้งป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน จึงควรฟื้นฟูโดยการขยับข้อต่างๆ ทั้งแขน และขาที่อ่อนแรงอย่างนุ่มนวล วันละอย่างน้อย 1-2 รอบ ผู้ป่วยอาจทำ  เองได้โดยใช้แขนและขาข้างที่ดีมาช่วย หรือให้ญาติช่วยทำให้

นอกจากนี้ควรจัดท่าทางที่ถูกต้องเวลานอนและนั่ง เพื่อป้องกันแผลกดทับและข้อเคลื่อน หลังจากพ้นระยะแรกไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะเริ่มขยับแขนขาได้บ้างจึงควรเพิ่มการฟื้นฟูให้มากขึ้น

ทำไมบางคนจึงมีอาการเกร็งของแขนขา และควรทำอย่างไรถ้ามีอาการเกร็ง

อาการเกร็งของแขนขาเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมีการฟื้นตัว ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวมากขึ้น อาการเกร็งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเกร็งไม่มากจะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ฝ่อลีบเร็ว ช่วยลดบวม และลดอุบัติเหตุของหลอดเลือดดำอุดตันได้ แต่ถ้าเกร็งมากเกินไปจะทำให้มีอาการปวด ขยับแขนขาลำบาก และรบกวนการใช้งานของแขน มือ หรือถ้าเป็นการเกร็งนานๆ ระหว่างเดินจะทำให้ข้อยึดติดได้

>>อ่านหน้าถัดไป<<

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.