ผู้ป่วยเบาหวาน กับการกินผักต่างๆ ส่งผลดีหรือผลเสีย
ว่ากันด้วยโรคเบาหวาน ใครๆก็รู้ว่าควรงดของหวาน แป้ง น้ำตาล ต่างๆ มีหลายคนก็คิดว่า ผู้ป่วยเบาหวาน สามารถกินผักเยอะเท่าไรก็ได้ วันนี้เราจึงนำคำแนะนำจาก ดร.รุ้งระวี นาวีเจริญ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นดังกล่าวมาฝากผู้อ่านค่ะ
ความจริงของผักและโรคเบาหวาน
แน่นอนว่าการกินผักนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย แต่สำหรับใครที่ป่วยเป็นเบาหวานอยู่ แม้แต่การกินผักก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังไม่ต่างจากการควบคุมอาหารอื่นๆเลย
คำจำกัดความของคำว่า “ผัก” ที่กว้างเกินไป อาจทำให้เราเลือกกินผักอย่างผิดๆได้ เพราะในผักบางชนิด โดยเฉพาะผักประเภทหัวหรือรากถือเป็นผักที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หากกินมากๆจึงอาจให้ผลไม่ต่างจากการกินแป้ง
ดร.รุ้งระวี อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง เบาหวาน สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ว่า
หนึ่งในอาหารหลักของผู้ป่วยเบาหวานคือ อาหารในหมวดผัก แต่ในหมวดผักยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งผักแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน คือ
ผักประเภท ก เป็นผักที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ให้พลังงานน้อย นักโภชนาการจึงระบุว่า ผักในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดเป็นพลังงาน ซึ่งได้แก่ ผักใบเขียวต่างๆ อาทิ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักปวยเล้ง ผักกาด กะหล่ำปลี ใบโหระพา ใบกะเพรา บวบ แตงกวา มะเขือเทศ
แต่สำหรับ ผักประเภท ข เป็นผักที่ให้พลังงานมากกว่า และไม่ควรชะล่าใจในการกิน เพราะผักกลุ่มนี้เพียง 1 ส่วน (เท่ากับผักดิบ 1 ถ้วยตวงหรือผักสุก 1-2 ถ้วยตวง) จะมีคาร์โบไฮเดรตประกอบอยู่ 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี โดยผักกลุ่มนี้ อาทิ ฟักทอง แครอต บรอกโคลี มะละกอดิบ หน่อไม้ มะระ หอมหัวใหญ่ เห็ดฟาง ถั่วฝักยาว ถั่วงอก
ดังนั้น ผักที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินได้ไม่จำกัดจึงเป็นผักประเภท ก เท่านั้น ส่วนผักประเภท ข นับเป็นผักในกลุ่มที่ควรควบคุมปริมาณ เพราะหากกินมากไป อาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวค่ะ
แล้วสรุป ผู้ป่วยเบาหวานควรกินผักอย่างไร
การกินผักให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทำได้ดังนี้
• ปรับลดปริมาณผักให้สมดุล
ในการปรับปริมาณผักให้สมดุลนั้น อาจารย์รุ้งระวีบอกไว้ว่า หากผู้ป่วยเบาหวานบางคนต้องการกินผักประเภท ข ก็สามารถกินได้ แต่ต้อง
ลดการกินอาหารในหมวดอื่นๆทดแทน
ตัวอย่างเช่น หากอยากกินฟักทองเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปกติ ในมื้อนั้นหรือมื้อถัดไปก็อาจต้องลดการกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น
ขนมปังโฮลวีต เผือก มัน ให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นเท่าใดนัก
• กินผักสดแทนผักทอด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ ที่ปรึกษาศูนย์เบาหวานศิริราช ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า หากหิวระหว่างวัน แนะนำให้กินผักแก้หิวได้ แต่ควรเป็นผักใบ จะนำไปต้มหรือกินสดๆก็ได้ แต่ไม่ควรนำไปทอด เพราะจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้
กล่าวคือ แม้ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับคำแนะนำให้กินผักเป็นอาหารยืนพื้น แต่ก็ต้องเลือกให้ถูกประเภทด้วย ไม่อย่างนั้นอาหารที่มีประโยชน์
อาจกลายเป็นโทษได้ค่ะ
ทีนี้ก็เหลือแค่ลองนำวิธีการปรับการกินตามที่ ชีวจิต แนะนำ เท่านี้ก็ช่วยให้เลือกกินอาหารอย่างมั่นใจแล้วค่ะ
สนใจเรื่องเบาหวานเพิ่มเติม ไปเจอกันได้ในงาน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คู่มือกินน้ำตาลทราย น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ ป้องกันโรคเบาหวาน
สารพัดวิธีป้องกัน โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ตอนที่ 2 หลอดเลือดหัวใจตีบ
วิธีง่ายๆ แค่ “เดิน” ก็ลดเสี่ยงเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือดได้