วิ่งลดน้ำหนัก กับสารพัดปัญหาระหว่างทาง เรารวบรวมคำตอบไว้ให้แล้ว
วิ่งลดน้ำหนัก ไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลายคนเป็นนักวิ่งมือใหม่และเมื่อเจอปัญหาอย่าง หน้ามืด หรือลืมยืดเส้น ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจนล้มเลิกความคิดที่จะวิ่งต่อไป
นายแพทย์กรกฎ พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และคอลัมนิสต์ประจํานิตยสารชีวจิต มีคำตอบ ที่จะทำให้คุณวิ่งได้อย่างมือโปร
ยืดเส้นก่อนวิ่งจําเป็นไหม
เราจะเห็นว่า การออกกําลังกายหรือเล่นกีฬาชนิดใด จําเป็นต้องมีการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วยการวิ่งเหยาะๆ ขยับแขนขาสัก 5 นาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ หรือที่เรามักเรียกกันว่า วอร์มอัพ ในส่วนของการยืดเหยียดนั้น แนะนําให้ทํา แต่ควรทําหลังจากการวอร์มอัพเล็กน้อย เพราะหากกล้ามเนื้อมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
อาจทําให้กล้ามเนื้อฉีกขาดหรือเกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งการยืดเหยียดก่อนเล่นกีฬาหรือออกกําลังกายจะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่เคยหดอยู่ตลอดเวลา เช่น ในผู้ที่ทํางานนั่งโต๊ะหรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ และช่วยลดการเกิดตะคริวได้ด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่า หลังจากออกกําลังกายแล้ว ร่างกายต้องการการคูลดาวน์ หรือการลดอัตราความเร็วของกิจกรรมลง ตามด้วยการยืดเหยียดอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งจากการใช้งานหนักคลายตัวลง ทําให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ตามปกติ ช่วยให้ไม่ปวดเมื่อยหรือตึงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สรุปแล้วการยืดเหยียดมีความจําเป็นทั้งก่อนและหลังออกกําลังกาย เพราะช่วยให้การออกกําลังกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดการเกิดอาการบาดเจ็บได้นั่นเอง
วิ่งแล้วหน้ามืด แน่นหน้าอก ควรทําอย่างไร
อาการเหนื่อย หอบ จุก จากการวิ่งครั้งแรกๆ อาจเกิดกับผู้ที่ไม่ได้วิ่งสม่ําเสมอหรือไม่เคยออกกําลังกายมาก่อน แล้วมาวิ่งด้วยความเร็วหรือระยะทางที่มากเกินไป แต่ถ้ามีอาการหน้ามืดร่วมด้วยแบบนี้ต้องระวังแล้ว เพราะหมายถึงระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดที่ส่งเลือดไปยังสมอง ทํางานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเมื่อออกกําลังหนักในระดับนี้ เนื่องจากขณะวิ่ง เลือดจะไปอยู่ที่กล้ามเนื้อในปริมาณมาก หัวใจต้องทํางานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดออกไปทั่วร่างกายและรับเลือดกลับ อาจหนักจนเกินความสามารถที่มีอยู่ทําให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการหน้ามืด หากหนักกว่านั้นอาจทําให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ คำแนะนํา สําหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มวิ่งแล้วเกิดอาการดังกล่าว ต้องวอร์มอัพร่างกาย เช่น เดินแกว่งแขนขาสัก 3-5 นาที ยืดเส้นแล้วค่อยวิ่ง หากเหนื่อยก็ใช้วิธีเดินเร็วแทน ก่อนหยุดวิ่งให้ค่อยๆ ลดความเร็วลง โดยใช้เวลา 3-5 นาที เป็นการคูลดาวน์ อย่าหยุดวิ่งกะทันหัน ถ้ารู้สึกเหนื่อยแบบจุกแน่นหน้าอกขณะวิ่ง ควรไปตรวจเช็กร่างกาย เพื่อหาสาเหตุว่ามีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิตหรือไม่ มีภาวะโลหิตจางไหม เพื่อจะได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุก่อนออกกําลังกายอีกครั้ง
สําหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมักพบบ่อยในหญิงไทย แนะนําให้กินอาหารที่บํารุงเลือด เช่น เนื้อปลา ที่สําคัญคือ ต้องรู้ขีดจํากัดของร่างกายตัวเอง ไม่จําเป็นต้องหักโหม วิ่งเกินกําลัง หรือวิ่งกวดให้ทันเพื่อน แต่ให้วิ่งไปสบายๆ เหนื่อยก็ชะลอ เท่านี้ก็เพียงพอ
บทความอื่นที่น่าสนใจ