ล้างจมูก, ชีวจิต, การดูแลสุขภาพ

10 ขั้นตอน ล้างจมูก อย่างถูกต้อง

ล้างจมูก ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ทำตามขั้นตอนเหล่านี้

ล้างจมูก ที่แพทย์แผนปัจจุบันมักจะสั่งให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคหวัดที่มีอาการทางจมูก ล้างจมูกด้วยน้ําเกลือ เพื่อทําความสะอาดจมูก ความจริงในทางอายุรเวทมีการล้างจมูกมานับพันปีแล้ว เพื่อล้างละอองเกสรดอกไม้และมลพิษในอากาศ ซึ่งเราสามารถล้างจมูกให้เป็นกิจวัตรเหมือนการแปรงฟันได้เพื่อช่วยส่งเสริมการทํางานของจมูก ดวงตา หู คอ และอิมมูนซิสเต็ม

รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายวิธีการล้างจมูกไว้ใน http://www.si.mahidol.ac.th/ ดังนี้

วิธีการ ล้างจมูก

เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส หรือหลังการฉายแสงออก ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ นอกจากนั้น การล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น การล้างจมูกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูก

โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือที่แพทย์จ่ายให้ใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลสามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้น ขึ้นมาเทใส่ภาชนะปากกว้าง เช่น ชามขนาดพอประมาณที่จะทำการล้างในเวลานั้นๆ หรืออาจเทน้ำเกลือลงในภาชนะที่สามารถอุ่นในไมโครเวฟได้ แล้วอ่นในไมโครเวฟให้อ่นพอประมาณ

2.ควรล้างจมูกบนโต๊ะ

โดยหาภาชนะมารองรับน้ำเกลือหลังล้าง ที่จะออกมาทางจมูก และปาก เช่น ชาม หรือกะละมัง หรือล้างในอ่างล้างหน้า

3.ใช้ลูกยางแดง หรือกระบอกฉีดยา

ที่แพทย์จ่ายให้ ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น ประมาณ 10-15 ซีซี ในผู้ใหญ่  หรือประมาณ 5 ซีซี ในเด็ก

4.นั่งโน้มตัวไปข้างหน้า

นั่งโน้มตัวไปข้างหน้าและก้มหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือหลังจากที่ล้างแล้ว ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่า หรือ คัดน้อยกว่าก่อน

ล้างจมูก, ชีวจิต, การดูแลสุขภาพ
ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูก

5.นำปลายกระบอกฉีดยาใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย

ควรนำปลายของลูกยางแดง หรือปลายกระบอกฉีดยาใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้ แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้

6.ฉีดน้ำเกลือ

บีบลูกยางแดง หรือดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยาเบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ไหลออกมาจากจมูกหรือปากแล้ว ให้หายใจตามปกติได้ ข้อสำคัญคือ ระหว่างที่น้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จะต้องกลั้นหายใจไว้ มิฉะนั้นอาจหายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลมทำให้เกิดการสำลักได้

7.ค่อยๆ เพิ่มปริมาณของน้ำเกลือในแต่ละครั้ง

หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูกและรู้จังหวะของการหายใจแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณของน้ำเกลือในการล้างแต่ละครั้งขึ้นเรื่อยๆ การล้างจมูกให้ได้ประสิทธิภาพ ในการชำระล้างโพรงจมูกให้สะอาดนั้น ควรจะดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบน และล่างของโพรงจมูก เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้ทั่วทั้งโพรงจมูกและออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

หลังจากฉีดล้างโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรจะมีน้ำเกลือไหลออกจากโพรงจมูกอีกข้าง ถึงจะเป็นการล้างที่ถูกต้องคือ มีปริมาณของน้ำเกลือที่ใช้ล้างในแต่ละครั้ง และมีความแรงของน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปเพียงพอ ควรล้างโพรงจมูกสลับข้างไปเรื่อยๆ เช่น หลังล้างข้างซ้าย ก็ควรย้ายไปล้างข้างขวา แล้วสลับกันไปมา

8.ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง

การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูกและปาก จะใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้

9.สั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก

หลังจากล้างเสร็จ สามารถสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก  และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้ การล้างจมูกอย่างถูกต้องบ่อยๆ จะไม่เกิดโทษ หรืออันตรายต่อจมูก หรือร่างกาย ในทางตรงกันข้าม จะมีประโยชน์โดยช่วยล้างน้ำมูก สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก ดังนั้น ในช่วงวันหยุด ถ้าล้างเพิ่มได้ ก็ควรจะทำ ควรล้างจมูกก่อนการอบจมูกด้วยไอน้ำเดือด หรือการพ่นยาในจมูกเสมอ แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก

10.ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่

หลัง ล้างจมูก เสร็จทุกครั้ง  ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด (ในกรณีที่ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาที่ทำจากแก้ว  หลังจากล้างแล้วควรนำมาต้มกับน้ำเดือด ประมาณ 5 นาที) แล้วผึ่งให้แห้ง


บทความอื่นที่น่าสนใจ

วิธีเลือกเตียงนอน เพื่อผู้สูงอายุ

เชือกกระโดด ต้องเลือกอย่างไร ให้ใช้แล้วปังเวอร์

ชุดออกกำลังกาย ต้องเลือกอย่างไร

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.