วัฒนธรรมการกินข้าวอยู่คู่กับคนไทยมายาวนานกว่า 7,000 ปี จวบจนปัจจุบันหลายคนกินข้าวแค่อิ่มท้อง แต่ในข้าวหลายสายพันธุ์มีสารอาหารที่สำคัญกับร่างกายและเป็นยารักษาโรคได้ การเลือกข้าวที่เหมาะกับร่างกาย และไม่ใช้สารเคมีถือเป็นการผลักดันวงการเกษตรวิถีธรรมชาติให้เติบโตสู่การขยายตัวของตลาดคนรักสุขภาพ แต่ทว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์จะมีที่มาและความพิเศษอย่างไร ต้องมาติดตามกันค่ะ
เรียนรู้เรื่อง “ข้าว”
หากพูดถึงสายพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ต้องขอบอกก่อนเลยว่ามีมากมายกว่า 10,000 สายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวมะลิแดง ฯลฯ ไปจนถึงข้าวที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรักสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน วันนี้เราจึงขอหยิบยกมา 5 สายพันธุ์เด่นๆที่อัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์เต็มเมล็ด มาดูกันค่ะ
ข้าวหอมมะลิ 105
เดิมทีข้าวสายพันธุ์นี้มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่ได้จากการนําข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากนาเกษตรกรอําเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จํานวน 199 รวง มาปลูกเพื่อศึกษาพันธุ์ จากนั้นได้ข้าวรวงที่ 105 ซึ่งมีกลิ่นหอม และเมื่อนำมาหุงจะได้เมล็ดที่อ่อนนุ่ม จึงมีการปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ตามหลักวิชาการ จนได้ออกมาเป็นสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
ต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็นข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์ ซึ่งมีต้นกำเนิดในภาคกลางของประเทศไทย นิยมปลูกในภาคอีสาน ปลูกได้เพียงปีละครั้ง ใช้ดินแล้งร่วนปนทราย หากปลูกในแหล่งที่เหมาะสมตามธรรมชาติจะทำให้เมล็ดข้าวเรียวใส มีกลิ่นหอมฟุ้ง ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต เป็นออร์แกนิกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์
สารอาหารและคุณประโยชน์
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพบว่า ในข้าวหอมมะลิ105 มีสารอาหารที่ประกอบด้วยสังกะสี ไนอะซิน และวิตามินอีในปริมาณที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารอื่นๆที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่
• วิตามินบี1 ป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท
• วิตามินบี2 ช่วยในการเจริญเติบโต รวมไปถึงช่วยบำรุงผม ผิว เล็บ และบำรุงเม็ดเลือด ลดความรุนแรงของโรคไมเกรนได้
• แมกนีเซียม มีแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในการเผาผลาญไขมัน ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน
ข้าวปทุมธานี1 / ข้าวหอมปทุม
ได้รับการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์มาโดยตลอดจนประสบความสำเร็จ จากนั้นเมื่อได้รับการขยายพันธุ์จนกลายเป็นข้าวสายพันธุ์หลักแล้ว กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาให้เป็นพันธุ์รับรอง ใช้ชื่อข้าวพันธุ์ปทุมธานี1 หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ข้าวหอมปทุม”
ข้าวปทุมธานี1 มีลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง มีขน มีหางเล็กน้อย คุณภาพเมล็ดคล้ายพันธุ์ข้าวดอกมะลิ105 คือเมื่อหุงสุกจะให้กลิ่นหอม นุ่ม เหนียว โตดี ในนาปรังภาคกลาง พร้อมโตทุกฤดูบนข้าวนาปรังที่พึ่งน้ำแบบนาชลประทาน ในแต่ละปีจะให้ผลผลิตสูง
สารอาหารและคุณประโยชน์
จากการทดสอบและตรวจวิเคราะห์หาสารสำคัญของข้าวปทุมธานี1 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ในข้าวปทุมธานี1 มีสารอาหารสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่
• วิตามินอี ในรูปของโทโคฟีรอลและโทโคไตรอีนอล ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้ช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ได้ดี
• โอเมก้า-3 ในระดับที่เกือบเทียบเท่าอาหารทะเล จึงช่วยบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงโรคอัมพฤกษ์
• แกมม่าโอไรซานอล มีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างปกติ
• เซราไมด์ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้นุ่มนวลอ่อนเยาว์ และทำให้สุขภาพผิวแข็งแรง
ข้าว กข43
ในปีพ.ศ.2542 ช่วงฤดูนาปรัง ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ได้ทำการผสมพันธุ์ข้าวข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว ระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี(พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) จนคัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและนาเกษตรกร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 จนถึงปีพ.ศ.2551 มีการรับรองพันธุ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ให้ใช้ชื่อว่า “ข้าวเจ้ากข43”
ข้าวกข43 ถือเป็นข้าวที่ทำให้ชาวนาภาคกลางปลูกแบบอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะสามารถปลูกแบบอินทรีย์ได้ดี โดยวิธีหว่านน้ำตม อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 95 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ไว คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ นุ่ม เหนียวใกล้เคียงข้าวหอมมะลิ105 อินทรีย์
สารอาหารและคุณประโยชน์
จากการศึกษาวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวในเชิงสุขภาพ โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศไทย
มากกว่า 100 พันธุ์ พบว่า ข้าวเจ้ากข43 ให้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวแอมิโลสต่ำชนิดอื่นๆ มีคุณประโยชน์ ดังนี้
• มีสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ ป้องกันมะเร็ง ช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่เป็นสาเหตุ
ให้เม็ดเลือดจับตัวเป็นก้อน แล้วไปอุดตันที่สมองและหัวใจ
• ดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก
ข้าวหอมมะลิแดง
ในปีพ.ศ.2525 สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ได้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวขาวดอกมะลิ105 พบว่าในรวงข้าวจำนวนหนึ่งมีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ด้วย คาดว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติซึ่งมักพบอยู่บ่อยๆ เมื่อนำเมล็ดข้าวเหนียวที่ปนอยู่ไปปลูกก็พบว่าในกอหนึ่งให้เมล็ดที่มีเยื่อหุ้มเป็นสีแดงระเรื่อ มีแป้งทั้งชนิดที่เป็นข้าวเหนียวและข้าวเจ้าอยู่ด้วยกัน จนปัจจุบันกรมการข้าวได้เสนอขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์ข้าวทั่วไป โดยใช้ชื่อว่าข้าวหอมแดง หรือ ที่เรียกกันว่า“ข้าวหอมมะลิแดง”
ข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวเจ้านาปีที่นำมาทำนาปรังได้ ปลูกง่าย สู้เพลี้ย มีลักษณะเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม คงความอร่อยแบบข้าวหอมมะลิ ความพิเศษคือมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวสายพันธุ์อื่น 30 เท่า และยังมีการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสช้า จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลอย่างผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ ด้วยสรรพคุณมากล้น จึงถูกขนานนามว่าเป็นราชินีข้าวไทย
สารอาหารและคุณประโยชน์
จากงานวิจัยหัวข้อคุณค่าทางโภชนาการของข้าว 9 สายพันธุ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ผาณิต รุจิรพิสิฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชชุดา สังข์แก้ว และดร.เสาวนีย์ เอี้ยวสกุลรัตน์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าข้าวหอมมะลิแดงโดดเด่นเรื่องการให้พลังงานสูง มีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่
• โปรแอนโทไซยานิดิน ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบในร่างกาย และลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง
• โฟเลต เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง
• เบต้าแคโรทีน ช่วยซ่อมแซมและชะลอความเสื่อมของเซลล์ดีในผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบ
• แร่ธาตุสังกะสี บรรเทาอาการหวัด เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
• ไนอะซิน บำรุงประสาทและสมอง ช่วยลดระดับไขมันในเลือด
ข้าวมะลินิลสุรินทร์
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวพันธุ์ที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสี ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพ จึงได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา โครงการนี้ได้ริเริ่มในปีพ.ศ.2546 ที่ศูนย์วิจัยสุรินทร์ โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างข้าวสายพันธุ์มะลิดำจากจังหวัดสุรินทร์มาปลูกคัดเลือก
สายพันธุ์บริสุทธิ์ จนได้สายพันธุ์มะลิดำ SRNCO3053-6-2 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้รับรองและตั้งชื่อว่า“ข้าวเจ้าพันธุ์มะลินิลสุรินทร์” (มะลิดำ 2)
ข้าวมะลินิลสุรินทร์สามารถเติบโตได้ทุกดินอินทรีย์ ชอบดินร่วน เกือบแล้ง รอหว่านหลังฝนชุกก็พร้อมโตเป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว เปอร์เซ็นต์แอมิโลสต่ำ ข้าวสุกเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม อร่อย มีรสชาติเฉพาะตัว มาพร้อมคุณค่าทางโภชนาการมากมายที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงร่างกายเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส เหมาะกับการรับประทานในยุคนี้อย่างยิ่ง
สารอาหารและคุณประโยชน์
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตอธิบดีกรมอนามัย เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวสีนิลประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยในการหมุนเวียนของระบบเลือด ชะลอการเสื่อมของเซลล์ ป้องกันโรคหัวใจ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชลล์มะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มระดับไขมันดีในเลือด มีผลต่อการทำงานของ
ต่อมใต้สมอง ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและการรวมตัวของเกล็ดเลือด อีกทั้งยังมีสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่
• แอนโทไซยานิน สารสีม่วงเข้มที่ช่วยชะลอวัย ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง ต้านไวรัส
• ลูทีน บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงจากโรคจอประสาทตาเสื่อม
• เบต้าแคโรทีน ช่วยซ่อมแซมและชะลอความเสื่อมของเซลล์
• ธาตุเหล็ก เสริมสร้างเม็ดเลือดแดงและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
• แกมม่าโอไรซานอล ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี(LDL) และช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินอีมากถึง 6 เท่า
• แคลเซียม เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุน
ข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ได้นำเสนอไป จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นข้าวที่ดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น ส่วนใครที่มองหาและเลือกข้าวที่เหมาะกับตนเอง ทางศาลานาก็ได้นำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์นี้มาเบลนด์ให้เป็นหนึ่งเดียว ชื่อว่า “ข้าวอินทรีย์5 สายพันธุ์” ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก ทำให้คุณได้รับประโยชน์ครบถ้วนในทุกๆคำที่กิน
ข้าวสาร “เบลนด์” ได้
แม้ว่าการกินข้าวเพียงชนิดเดียวก็ช่วยเติมสารอาหารให้ร่างกายได้ แต่จะดีแค่ไหนหากในมื้ออาหารของคุณมีข้าวหลากหลายชนิดที่มาจากการเบลนด์ ซึ่งช่วยเพิ่มสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินหลายชนิด เสมือนการกินวิตามินรวม อีกทั้งข้าวที่ได้จากการเบลนด์ยังมีรสชาตินุ่มอร่อย กินง่าย
การเบลนด์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์รวมเป็นหนึ่ง นอกจากจะได้คุณประโยชน์ที่หลากหลายจากข้าวสายพันธุ์ต่างๆตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในระบบให้ยั่งยืนได้หลายพื้นที่ ด้วยการรับซื้อข้าวล่วงหน้าในราคาเป็นธรรมจากแหล่งปลูกที่เหมาะสมของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ก่อนจะค้นหาสัดส่วนที่ลงตัวในการเบลนด์ข้าว
เพื่อตอบโจทย์ความอร่อยนุ่ม แต่เพิ่มคุณประโยชน์จากการกินข้าวเมล็ดสี
บางคนอาจเคยผสมพันธุ์ข้าวกินเอง แต่กลับพบว่าข้าวแต่ละชนิดสุกไม่เท่ากัน แฉะบ้าง ดิบบ้าง แตกต่างจากข้าวอินทรีย์5 สายพันธุ์ของศาลานา เพราะทำการทดลองจนได้ข้าวทุกเมล็ด ทุกสายพันธุ์ที่หุงสุกพร้อมกัน หุงง่าย รสชาติอร่อย อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เพราะไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต อุดมไปด้วยวิตามินรวมและสารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดภาวะจากโรคหลอดเลือด ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
ผู้ป่วยควรใส่ใจในการเลือกข้าวเป็นพิเศษ
ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารมากกว่าคนทั่วไป ดร.อรนุช หน่อแก้ว
นักเคมีและที่ปรึกษาด้านวิชาการโครงการศาลานาให้คำแนะนำในการเลือกข้าวสำหรับผู้ป่วยไว้ว่า
“การเลือกชนิดของข้าวสำหรับกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อยู่ที่ว่าแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพเรื่องอะไร ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะเป็นคนแนะนำว่าควรจำกัดอาหารอะไรไหม เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำตาล จึงเหมาะกับข้าวพันธุ์กข43 ซึ่งเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลกลางค่อนต่ำ สามารถช่วยให้ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดคงที่
“และในผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในระยะที่จะต้องมีการฟอกไต คุณหมอมักให้จำกัดปริมาณโพแทสเซียมหรือฟอสฟอรัสในข้าว เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องเลือกกินข้าวขัดขาว ซึ่งจะช่วยจำกัดปริมาณของแร่ธาตุเหล่านี้ ฉะนั้นใครที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะกินอะไรก็ขอให้ปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ”
้แบบนี้แล้วก็มาเพิ่มคุณประโยชน์ให้มื้ออาหารด้วยข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เหมาะกับสุขภาพของคุณและคนที่คุณรักกันค่ะ