ANTI CANCER FOODS
กินต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่
กินต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทราบหรือไม่ว่า ชายไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงติดอันดับ 1 ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก หากใครมีพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หมายความว่าคุณอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็อย่าเพิ่งแตกตื่น เพราะเราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กลับมาเป็นซ้ำ หากรู้จักเลือกกินอาหารอย่างถูกวิธีทั้งชนิดและปริมาณทายาทมะเร็งลำไส้ใหญ่
บทความเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลว่า
ยีนผิดปกติก่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จากพ่อแม่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกผ่านทางยีนเด่น
โดยยีนผิดปกติเพียงยีนเดียวจากพ่อ (ขณะที่แม่ไม่มี) อาจทำให้ลูกมีโอกาสเสี่ยงได้รับยีนก่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมียีนก่อโรคในตัวและไม่รู้จักถนอมสุขภาพ กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่นานอาจถูกมะเร็งร้ายจู่โจมอย่างไม่ทันตั้งตัว
ดังนั้นให้ลองสำรวจประวัติครอบครัวอย่างละเอียดโดยเริ่มพิจารณาจากญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เรื่อยไปจนถึงปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
หากพบว่าในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบใดแบบหนึ่ง ทั้งเป็นโรคมะเร็ง
ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 45 ปี 1 คน เป็นโรคมะเร็งเมื่อมีอายุน้อยกว่า 60 ปี 2 คน หรือมีปู่ ย่า ตา ยาย รวมถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่า คุณอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
ฉะนั้นเพื่อให้แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงอีกครั้ง และเมื่อความเสี่ยงชี้ชัดก็ไม่ควรวางเฉย แต่ควรหันมาเริ่มดูแลตนเองอย่างจริงจังเสียที
รวมวิธีรับมือ 5 มะเร็งผู้หญิง อ่านจบ ทำตามได้จริง
หลีกเลี่ยงเนื้อวัว หมู แกะ
ชีวจิต เน้นให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปมานานเพราะมีรายงานวิจัยนับแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า ยิ่งกินมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสารพัดโรคร้าย
ล่าสุด วิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) เผยผลการศึกษาตอกย้ำอีกครั้งว่าไม่ควรกิน จากการสำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของชาวยุโรปจำนวน 478,000 คน พบว่า ผู้ที่กิน
เนื้อสัตว์สีแดงเฉลี่ยวันละ 5 ออนซ์ (142 กรัม) ขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ที่กินเนื้อสัตว์สีแดงน้อยกว่าวันละ 1 ออนซ์ (28.4 กรัม) ถึง 3 เท่า
สำหรับเนื้อสัตว์สีขาว เช่น เนื้อไก่ นักวิจัยพบว่าไม่มีผลเพิ่มความเสี่ยง ส่วนเนื้อปลาเป็นไปตามความคาดหมายคือ นอกจากไม่เพิ่มความเสี่ยง ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 3 เท่า
สรุปแล้วเพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดง เช่น วัว หมู แกะ ทั้งหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบคอน และเนื้อสัตว์รมควันร่วมด้วย เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนอุดมไปด้วยไขมันและเกลือ หากกินเป็นประจำอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เร็วขึ้น
ควรเลือกกินโปรตีนจากเนื้อปลาและอาหารทะเล สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง และโปรตีนไขมันต่ำจากพืช เช่น เห็ดหลากชนิด ถั่วเมล็ดแห้ง ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง
กินผักสีสวยเป็นหลัก
กินผักแป้งเยอะเป็นรอง
ผักหลากสี เช่น มะเขือเทศสีแดง มะเขือม่วงสีเข้ม ผักกาดขาว ผักโขม พริกหวานสีแดง สีเหลือง ล้วนอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมี สารสีมากคุณค่าที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้
หากหันมากินอาหารมังสวิรัติซึ่งเน้นพืชผักหลากชนิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยิ่งลดลงเป็นทวีคูณ ดังรายงานจาก วารสาร JAMA Internal Medicine ในหัวข้อเรื่อง Vegetarian Dietary Patterns and the Risk of Colorectal Cancers ที่ว่า ไม่จำเป็นต้องกินอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด
คือกินแต่ผักเพียงอย่างเดียว ก็ช่วยป้องกันโรคได้ โดยผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติในกลุ่มที่สามารถกินเนื้อปลาได้ (Pescovegetarians) ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 43 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่กินเนื้อสัตว์ปกติ
ในกรณีรู้ตัวว่าเสี่ยงโรคมะเร็ง จากประวัติครอบครัวแนะนำให้กินผักอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยกินผักสีเข้มอย่างน้อยวันละ 4 ส่วน จะเป็นผักสด ผักสุก หรือแช่แข็งก็ได้ ถ้าทำได้ควรเลือกผักที่สามารถกินได้ทั้งเปลือก เช่น แตงกวา มะเขือม่วง แครอต
เพื่อขจัดยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก ก่อนปรุงควรล้างให้สะอาด โดยคลี่ใบ ถูผักขณะเปิดน้ำไหลผ่านนานอย่างน้อย 2 นาที หรือแช่ผักในสารละลายนํ้าเกลือ โดยละลายเกลือ 2 ช้อนโต๊ะพูนในน้ำ 4 ลิตร หรือแช่ผักในน้ำ 4 ลิตรที่ผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วย จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด 1 – 2 ครั้ง
ปริมาณ 1 ส่วนของผักต้านโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แนะนำให้กินสลับกันมี ดังนี้
- ผักสุกสีเขียว เช่น บรอกโคลี ผักโขม ถั่วฝักยาว 1/2 ถ้วยตวง
- ผักสุกหลากสี เช่น ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา มะเขือม่วง 1/2 ถ้วยตวง
- แครอต มะเขือเทศ 1 ผลกลาง (80 กรัม)
- ผักสลัดสดสีเขียว เช่น แตงกวา ผักกาดหอม ต้นอ่อนทานตะวัน 1 ถ้วย
- ฟักทองนึ่ง 130 กรัม
ส่วนผักที่มีแป้งมาก เช่น มันฝรั่ง มันเทศ หากกินแทนข้าว ไม่ควรกินเกิน 1/4 จาน ที่สำคัญ ต้องหลีกเลี่ยงมันฝรั่งทอด เพราะจากการศึกษาพบว่า หากกินเป็นประจำจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงทั้งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหัวใจ โรคอ้วน
ล้างปากด้วยแอ๊ปเปิ้ล
กล้วย ส้ม ต้านมะเร็ง
ดร.ฟรานซิส ราอูล (Francis Raul) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส (The French National Institute for Health and Medical Research) ค้นพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในแอ๊ปเปิ้ลช่วยป้องกันการเจริญของเซลล์มะเร็งภายในลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะสารโปรไซยานิดินส์ (Procyanidins) ที่มีบทบาทสำคัญช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
การศึกษานี้ออกจะโหดร้ายสักหน่อย เริ่มต้นจากการป้อนสารก่อมะเร็งจนทำให้หนูทดลองป่วย จากนั้นจึงทดลองป้อนน้ำแอ๊ปเปิ้ลซึ่งมีส่วนผสมของโปรไซยานิดินส์จากธรรมชาติให้เป็นเวลา 6 สัปดาห์
ผลปรากฏว่า เมื่อส่องดูภายในลำไส้ รอยโรคก่อนเกิดมะเร็ง (Precancerous Lesions) ภายในลำไส้ใหญ่ของหนูทดลองลดลงมากกว่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่กินอาหารตามปกติ แม้ต้องรอคำยืนยันจากการทดลองในคนต่อไป แต่นักวิจัยคาดว่า จะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน
นอกจากแอ๊ปเปิ้ล ยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น กล้วย ส้ม องุ่น เชอร์รี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เมลอน สับปะรด ซึ่งแนะนำให้กินวันละ 5 ส่วน หากเป็นผลไม้ที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น แนะนำให้ล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสารเคมีตกค้างก่อนกิน โดยผสมด่างทับทิม (10 - 20 เกล็ด) ลงในน้ำ ตามด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ แช่ทิ้งไว้นาน 5 นาที แล้วใช้มือถูผิวผลไม้ให้ทั่วจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด 1 – 2 ครั้ง
ปริมาณ 1 ส่วนของผลไม้ที่แนะนำให้กินสลับกันมีดังนี้
- แอ๊ปเปิ้ล ลูกแพร์ และส้ม ขนาด 1 ผลกลาง (135 กรัม)
- เอพริคอต กีวี พลัม ขนาด 2 ผลเล็ก (100 กรัม)
- น้ำผลไม้ 1 แก้ว 250 มิลลิลิตร
- ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด แครนเบอร์รี่ 1 ช้อนโต๊ะ
- องุ่น เชอร์รี่ 10 – 15 ผล
- กล้วย 1 ผลเล็ก
- ผลไม้ตระกูลเบอรร์รี่ เมลอน สับปะรด 1 ถ้วย
ทั้งนี้ควรเน้นการกินผลไม้สดมากกว่าน้ำผลไม้ ซึ่งควรกินไม่เกินวันละ 1 แก้ว หรือผลไม้อบแห้ง เพราะผลไม้แปรรูปทั้งสองชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูง หากกินเกินพอดีน้ำหนักตัวอาจเพิ่มและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทน
กินโฮลเกรน เพิ่มพลังต่อสู้มะเร็ง
มหาวิทยาลัยโอตาโก (University of Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ พิมพ์เอกสารเผยแพร่เรื่อง Healthy Eating after Colorectal Cancer โดยหนึ่งในอาหารที่แนะนำให้กินเป็นประจำเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายต่อสู้กับมะเร็งร้าย คือ อาหารที่มีส่วนประกอบของธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งแนะนำให้กินวันละ 1 – 2 ส่วนในทุกมื้ออาหาร
ด้วยภาวะของโรคมะเร็ง ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเสาะหาแหล่งพลังงานชั้นดีที่ไม่เพียงให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่ยังอุดมด้วยใยอาหารดักจับสารพิษและสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อต่อต้านมะเร็งร้าย
ฉะนั้นควรเลือกอาหารประเภทข้าวและแป้งที่มีส่วนประกอบของธัญพืชไม่ขัดสีต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ รำข้าว รำข้าวโอ๊ต หลีกเลี่ยงข้าวขัดขาวและขนมปังที่มีไขมันสูง เช่น ครัวซองต์ ขนมปังกระเทียม
ปริมาณ 1 ส่วนของอาหารประเภทข้าวและแป้งที่แนะนำให้กินสลับกันมีดังนี้
- ขนมปังโฮลวีต 1 แผ่น (26 กรัม)
- ซีเรียลโฮลเกรน 1 ถ้วย (50 กรัม)
- มูสลี ถ้วย (50 กรัม)
- ข้าวกล้อง ถ้วย (55 กรัม)
- ข้าวกล้องต้ม ถ้วย (100 กรัม)
- มัฟฟินโฮลวีต 1 ชิ้นเล็ก (80 กรัม)
- เส้นโฮลวีต ถ้วย (75 กรัม)
หากรู้จักเลือกกินอาหารอย่างถูกหลัก แม้มียีนพาหะจากพันธุกรรมก็สามารถรอดพ้นจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมีร่างกายที่แข็งแรงได้
รู้จัก ชีวจิต ชีวิตก็ดีแบบนี้
จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิตฉบับ 401 (16 มิถุนายน 2558)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
หยุดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันก่อนง่ายกว่า
3 ประสบการณ์หายมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยอาหาร การออกกำลังกาย และวิธีคิดแบบชีวจิต