เลือก + ใช้ ภาชนะอย่างไร ? ปลอดภัย ไกลมะเร็ง เวลาเห็นจาน ชาม แก้วน้ำ ดีไซน์สวย ๆ หลายคนใจอ่อน ควักกระเป๋าซื้ออย่างง่ายดาย เพราะทุกครั้งที่นำภาชนะเหล่านี้ มาใส่อาหารเสิร์ฟให้คนในบ้านหรือแขกที่มาเยือนแล้วตัวเองจะรู้สึกฟินเว่อร์
แต่ในความสวยงามของภาชนะเหล่านั้น หากเลือกไม่เป็น ใช้ไม่ถูก ก็อาจนำภัยร้าย
มาสู่ครอบครัวได้เหมือนกันนะคะ ดังนั้นวันนี้พี่เก๋จึงมีวิธีเลือกและใช้ภาชนะให้ปลอดภัย
ไกลมะเร็ง มาแนะนำกัน
3 กฎเหล็ก ต้องรู้ก่อนเลือกใช้ภาชนะ
ก่อนจะเลือกซื้อภาชนะเข้าครัวที่บ้าน สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แนะนำกฎเหล็กที่ต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ ดังนี้
- ภาชนะต้องไม่ทำหรือประกอบด้วยวัสดุที่เป็นพิษ เช่น ไม่ทำจากวัสดุที่ใช้แล้ว มีการแต่งสีในส่วนที่สัมผัสอาหาร เพราะอาจทำให้สารเคมี สารพิษ หรือโลหะหนักจากสีหลุดออกมาปนเปื้อนในอาหารได้
- ภาชนะต้องมีความแข็งแรงทนทาน ไม่ชำรุดสึกหรอ หรือแตกกะเทาะเป็นสนิม ทนต่อการกัดกร่อนของอาหารที่มีรสเปรี้ยวหรือเค็มจัด
- ภาชนะต้องมีรูปแบบที่ทำความสะอาดง่าย เช่น มีผิวเรียบ ไม่มีร่อง ซอก มุม ปากแคบ หรือก้นลึก
HOW – TO เลือก + ใช้ภาชนะอย่างไร ?
สำหรับวิธีเลือกและใช้ภาชนะ ซึ่งผลิตจากวัสดุต่าง ๆ ให้ปลอดภัยนั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
แก้ว
แก้ว เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่นำมาทำภาชนะได้ดี เพราะทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารเคมี สามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซ ไอน้ำ กลิ่น และจุลินทรีย์ได้ดีมาก มีความโปร่งแสงจึงทำให้มองเห็นอาหารที่บรรจุอยู่ภายในได้อย่างชัดเจน แต่ข้อเสียคือ แตกง่าย
HOW TO USE สามารถบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูงได้ เช่น เครื่องปรุงรสหรืออาหารรสจัดต่าง ๆ
เมลามีน
เมลามีน ผลิตจากพลาสติกชนิดแอมิโนเรซิน ที่เป็นพอลิเมอร์ของเมลามีนกับฟอร์มาลดีไฮด์ ภาชนะเมลามีนมีความทนทาน ไม่แตกหักง่าย มีน้ำหนักเบา จึงสะดวกต่อการเก็บ แต่หากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ใส่อาหารร้อนจัด น้ำเดือดจัด หรือนำเข้าไมโครเวฟ อาจทำให้สารฟอร์มาลดีไฮด์ละลายออกมาปนเปื้อนได้
นอกจากนี้ ภาชนะเมลามีน ยังมีคุณสมบัติเป็นรูพรุน ดูดซึมน้ำได้บ้าง จึงสามารถดูดสีและกลิ่นอาหารได้ ดังนั้นต้องรีบทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน เพราะหากทิ้งไว้นานก็จะเป็นคราบฝังแน่น ทำความสะอาดยาก
HOW TO USE ควรใช้ใส่อาหารที่มีความเย็น หรืออาหารที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส
เซรามิกและดินเผา
กระเบื้องเคลือบหรือเซรามิก เป็นภาชนะที่มีส่วนผสมหลักเป็นดิน หิน และทราย ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุ สามารถผ่านความร้อนที่อุณหภูมิสูงได้ ส่วนใหญ่จะเคลือบสีสันให้ดูสวยงาม แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อันตรายจากสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีสันหรือลวดลายบนภาชนะ ซึ่งอาจจะปนเปื้อนในอาหาร หากเนื้อเคลือบนั้นแตกหรือหลุดล่อน
ดังนั้นควรเลือกชนิดที่ไม่ตกแต่งสี หรือหากมีสีก็ควรมีการใช้น้ำยาเคลือบทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสังเกตได้โดยการใช้มือลูบจะรู้สึกเรียบ
HOW TO USE ไม่ควรนำมาใส่อาหารที่มีรสเปรี้ยวหรือเค็มจัด แต่ใช้ใส่อาหารที่มีความเย็นและอุณหภูมิสูงได้
ไม้
ปัจจุบันเรานำไม้มาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหาร ทั้งจาน ชาม เขียง ถ้วยสลัด ซึ่งก็มีความสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรระวังในการใช้ภาชนะจากไม้คือ การทำความสะอาด เนื่องจากหากปล่อยให้ภาชนะไม้เปียกชื้นจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย และควรเลือกชนิดที่ไม่ทาสีหรือเคลือบแล็กเกอร์
HOW TO USE ใช้ใส่อาหารได้ทุกประเภท
2 สารเคมีอันตรายในภาชนะ
สำหรับสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต และตกแต่งภาชนะ ซึ่งอาจปนเปื้อนในอาหารนั้น
มีดังนี้
ตะกั่ว สามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย และจะไปขัดขวางกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
ฟอร์มาลดีไฮด์ หากสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบ
ทางเดินหายใจและปอด
ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ เพื่อสุขภาพของทุก ๆ คนในครอบครัว
เรื่อง วาสนา ภาพ ธรรมนาถ อินทร์ปรุง, iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGINGนิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
สร้างภูมิคุ้มกัน และ เสริมภูมิชีวิต เกราะป้องกันมะเร็ง ลดการเป็นซ้ำ
ชีวจิต ป้องกันและฟื้นฟูมะเร็ง อย่างไร ?