เช็คอาการปวด … ด้วยตัวเอง ปวดแบบไหนต้องรักษาด้วยแผนไทย!!
เช็คอาการปวด
ในบรรดาโรคที่มีคนเป็นบ่อยและมาพบแพทย์แผนไทยมากที่สุดคือ ความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อต่าง ๆ อาการนำที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ อาการปวด ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งและอาการของแต่ละโรค ในครั้งนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะอาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อเท่านั้น
ตำแหน่งที่มีอาการปวดนี้มีความสำคัญมาก เช่น คนไข้มาด้วยอาการปวดไหล่ด้านซ้ายร้าวลงไปถึงแขน ถ้ามองผิวเผินอาจคิดได้ว่าเป็นแค่อาการปวดไหล่จากกล้ามเนื้อแข็งเกร็งบริเวณหลังส่วนบน ไหล่ และแขนเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการนำของโรคหัวใจได้เช่นกัน เพราะบริเวณหน้าอกด้านซ้าย เป็นตำแหน่งของหัวใจ หากมีความผิดปกติอาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่หน้าอก ไหล่ และแขนซ้ายได้ หรือที่เรียกว่าอาการ Referred Pain
อาการปวดลักษณะนี้ต้องระวังเป็นอย่างมาก หมอต้องซักประวัติผู้ป่วยให้ละเอียด และผู้ป่วยก็ต้องบอกอาการให้ละเอียด เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยง่ายไหม หรือต้องตื่นมาตอนกลางดึกบ่อย ๆ และจำเป็นต้องมีการตรวจ
สุขภาพด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งควรต้องพบแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น
แต่ถ้ามาพบแพทย์แผนไทย ก็จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองก่อน แล้วจึงส่งต่อให้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาต่อไป
ส่วนบางคนที่มีอาการปวดไหล่ด้านซ้าย รู้สึกหายใจไม่อิ่มและหายใจได้ไม่เต็มปอด อาจคิดว่าตัวเองต้องเป็นโรคหัวใจแน่ ๆ หรือไม่ก็ต้องเป็นโรคร้ายแรง แต่ความจริงแล้วเป็นแค่อาการปวดกล้ามเนื้อธรรมดา ซึ่งอาการนี้แพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้นะครับ
อาการปวดกล้ามเนื้อเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบนแข็งเกร็ง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ประสิทธิภาพ การนำสารอาหารหรือออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ลดลง แพทย์แผนไทยจะเรียกอาการนี้ว่า โรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลัง (ตำแหน่งกระดูกคอ T1 – C7) แพทย์แผนไทยจะนวดคลายกล้ามเนื้อ และกดบริเวณจุดสัญญาณซึ่งอยู่ในตำแหน่งระหว่างกระดูกคอ T1 – C7 โดยกดเน้นเป็นพิเศษ และกดจุดเสริมในตำแหน่งอื่น ๆ ตามหลักการรักษา
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนไม่ได้ปวดแค่ไหล่เพียงอย่างเดียว แต่กลับมีอาการปวดคอร้าวขึ้นไปถึงศีรษะ อาจปวดศีรษะข้างเดียว หรือทั้งสองข้างสลับไปมา และมีอาการปวดกระบอกตาร่วมด้วย ถ้าใครมีอาการแบบนี้ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นไมเกรน หรือแพทย์ไทย เรียกว่า ลมปะกัง
ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า ระดับความสูงของโหนกแก้มทั้งสองข้าง จะไม่เท่ากัน มีความไม่สมมาตรกัน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากกระดูกคอระดับ C6 – C7 มีความผิดปกติ หรือเรียกว่า ลมปลายปัตคาตสัญญาณ 5 หลังการรักษามีความคล้ายคลึงกับการรักษาในตำแหน่งสัญญาณ 4 หลัง คือ ต้องนวดคลายกล้ามเนื้อ แต่ให้เน้นกดบริเวณจุดสัญญาณตรงตำแหน่งระหว่างกระดูกคอ C7 – C6 แทน และกดจุดเสริมในตำแหน่งอื่น ๆ ตามหลักการรักษา
ในกรณีที่มีอาการปวดกระบอกตาร่วมด้วยนั้น ต้องแน่ใจว่าไม่ได้มีปัญหาสายตา ดังนั้นต้องไปตรวจเช็กสายตาเสียก่อน หรือในกรณีคนที่สวมแว่นอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะมีอาการสายตาผิดปกติเพิ่มก็ได้ การตัดแว่นให้เหมาะสมก็จะช่วยทำให้อาการปวดศีรษะและกระบอกตา
หายได้
อีกหนึ่งอาการนำของไมเกรนคือ อาการปวดศีรษะร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน ปวดมากแบบวิ้ง ๆ โดยเฉพาะเมื่อเจอแสงแดดจ้า หรืออยู่ในที่ที่มีเสียงดัง เช่น ผับ งานคอนเสิร์ต ที่แย่คือ ระหว่างเมาท์มอยอยู่กับกลุ่มเพื่อน ก็สามารถเกิดอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมาได้ นอกจากนี้ อาการร้ายแรงที่สุดคือ ความดันโลหิตจะสูงและมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย
ถ้ารู้ว่าเป็นไมเกรน ควรเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้อย่างเด็ดขาด
นอกจากการนวดกดจุดสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้งแล้ว ยังมีวิธีรักษาไมเกรนวิธีอื่น ๆ ดังนี้
ตำรับขิง ชงดื่มเมื่อมีอาการ หรือกินเช้า – เย็น วันละ 10 – 15 กรัม ก่อนอาหาร
ตำรับยาหอมนวโกฐ ชงกินกับน้ำต้มสุก หรือน้ำลูกผักชี เช้า – เย็น 1 – 2 ช้อนชา หรือประมาณ 1 ข้อนิ้วก้อย ก่อนอาหาร
ตำรับจันทน์ลีลา กินขนาด 250 – 500 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า – เย็น
ตำรับเถาวัลย์เปรียง ชงดื่มหรือกินเป็นแคปซูล ขนาด 250 – 500 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น หรือเมื่อมีอาการ อบไอน้ำสมุนไพรสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที จำนวน 2 รอบ หรือครั้งละ 10 นาที จำนวน 3 รอบ
สามารถเลือกกินยาสมุนไพรชนิดใดก็ได้ที่แนะนำไว้ข้างต้น ไม่จำเป็นต้องกินหมดทุกตำรับ แต่ตำรับที่แนะนำคือ ตำรับที่ 1 ตำรับที่ 2 และการอบสมุนไพร ถ้ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วยให้เลือกกินตำรับเถาวัลย์เปรียง เพราะจะช่วยลดอาการปวดและอักเสบของ
กล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะช่วยป้องกันอาการระบมจากการนวดได้ดี
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเจ็บป่วย เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพนะครับ
ที่มา
นิตยสารชีวจิต ฉบับ 454
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แก้ไมเกรน ด้วย Migraine Free Energy Bars เคี้ยวอร่อยเพลินๆ
ปวดไมเกรน รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?