สเต็มเซลล์ คู่เเท้ที่ยาก กว่าจะตามหากันเจอ
สเต็มเซลล์ เซลล์ต้นกำเนิด ( Stem cell) ที่ดารานายแบบชื่อดังกำลังตามหาอยู่นั้น คืออะไร นำมาใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง แล้วถ้าอยากบริจาคจะไปที่ไหน ชีวจิตออนไลน์ มีคำตอบมาให้ครับ
Q: สเต็มเซลล์คืออะไร ?
เสต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell) เป็นเซลล์ตัวอ่อนของโลหิตในไขกระดูกของเราทุกคน ซึ่งจะค่อยๆเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด คอยหล่อเลี้ยงอยู่ในร่างกาย นำพาสารอาหารและคอยจัดการกับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้าสู่ร่างกายของเรานั้นเอง
สเต็มเซลล์ สามารถบริจาคให้บุคคลอื่นได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคแต่อย่างใด และเป็นความหวังเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคทางโลหิตให้หายขาดได้ในปัจจุบัน
Q:โรคอะไรบ้างที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem Cell)
เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางชนิดไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาวเฉียบพลัน / เรื้อรัง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เเต่ในกรณีของนายเเบบชื่อดัง เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งร้ายที่แฝงกายคนทำงาน
อ่านเพิ่มเติม : ปรับ 7 พฤติกรรม แก้มะเร็งเม็ดเลือดขาว
Q: สเต็มเซลล์เเบบไหนที่จะบริจาคได้
การบริจาคสเต็มเซลล์ให้กันละกันได้นั้น ผู้บริจาคและผู้รับต้องมี เนื้อเยื่อเม็ดเลือดขาวตรงกัน (HLA) โดยถ้าเป็นสเต็มเซลล์จากพี่น้องท้องเดียวกัน จะมีความเข้ากันได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือปริมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น ใช่ว่าจะสามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้กันได้ง่ายๆนะ เเต่ถ้าในกรณีที่ไม่ได้เป็นญาติกัน มีโอการที่สเต็มเซลล์สามารถเข้ากันได้ดี เพียงแค่ 1:10,000 เป็นอย่างต่ำ ยิ่งยากเข้าไปอีก ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องการรอการปลูกถ่ายต้องรอนานมากๆเลย
ข้อมูลเพิ่มเติม : ตามหาสเต็มเซลล์ ยากพอๆ กับตามหาเนื้อคู่ จริงหรอ ? | อยู่เป็นลืมป่วย ซีซั่น 4
Q: บริจาคสเต็มเซลล์ด้วยวิธีอะไรได้บ้าง
ข้อมูลจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาติไทย ระบุว่า การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมี 2 วิธี ดังนี้
1. การบริจาคสเต็มเซลล์ทางหลอดโลหิตดำ (Peripheral Blood Stem Cell Donation)
โดยปกติในกระแสเลือดจะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell) อยู่น้อยมาก ในขั้นแรกจึงต้องฉีดยา G-CSF 4 วัน เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell) ออกจากไขกระดูก (Bone Marrow) มากระจายในกระแสเลือดให้มากพอ จึงจะเข้ากระบวนการเก็บสเต็มเซลล์
ซึ่งคล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดเลือด หรือน้ำเหลือง(Plasma) โดยนำโลหิตผ่านเข็มที่แทงอยู่ในเส้นเลือดดำ(Vein) เข้าสู่เครื่อง Automated Blood Cell Separator ที่จะแยกเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ทั้งนี้จะใช้เวลาเก็บครั้งละ 3 ชั่วโมง และอาจจะต้องมาเก็บ 2-3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย
2. การบริจาคไขกระดูก (Bone Marrow Donation)
เป็นกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงไขกระดูกโดยใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) ซึ่งดำเนินการเก็บในห้องผ่าตัด กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ และจะนำมาให้หลังจากที่ได้เจาะเก็บไขกระดูกเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และหลังทำแผลแล้วผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น และควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน
เเต่อาสาสมัครจะเลือกใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริจาคและความคิดเห็นของเเพทย์นะครับ เพราะก่อนการบริจาคต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้บริจาคทุกครั้ง