ไขมัน แหล่งไขมัน อาหารไทย

กิน ไขมัน อย่างชาญฉลาดตามตำรับอาหารไทย 4 ภาค

CHEEWAJIT’S WAY

กูรูชีวจิตแนะวิธีกินไขมันให้สดใสแข็งแรง

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ได้เขียนถึงแนวทางการกินไขมันให้มีสุขภาพแข็งแรง สดใส มีความรื่นรมย์ในชีวิต ไว้ในหนังสือปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 4 ดังนี้

“ถ้าคุณเลิกกินไขมัน คุณก็จะหมดแรงเอาเฉย ๆ มิหนำซ้ำชีวิตของคุณก็จะขาดความสดใส ขาดความมีชีวิตชีวา เพราะคอเลสเตอรอลมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมนเพศให้คุณด้วย

“ฮอร์โมนเพศ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเพศ หรือเรื่องเซ็กซ์โดยตรง แต่ฮอร์โมนเพศยังเป็นตัวการสำคัญในการสร้างจิตใจให้แจ่มใส ทำให้เรารักสวยรักงาม มีความรู้สึกอย่างที่เราเรียกกันว่า ‘อารมณ์สุนทรีย์’ ด้วยความรู้สึกอ่อนหวาน รู้จักซาบซึ้งกับสิ่งสวย ๆ งาม ๆ เหล่านี้ ทำให้ชีวิตจิตใจและทำให้โลกทั้งโลกดูสดใสสวยงามและเต็มไปด้วยความอ่อนหวาน

“ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไรถ้าขาดสิ่งสวยงาม ความรัก และความอ่อนหวานฉะนั้น ไขมันจึงจำเป็นสำหรับร่างกายและจิตใจ หลักสำคัญในการเลือกกินอาหารประเภทไขมันนั้นอยู่ตรงที่ว่า คุณต้องรู้จักเลือกกินไขมันดี (HDL) และละเว้นการบริโภคไขมันเลว (LDL)”

ตามแนวทางชีวจิตแนะนำให้กินถั่วเปลือกแข็ง (Nut) เป็นอาหารว่างระหว่างวัน กินโดยประมาณวันละ 1 กำมือของแต่ละคนก็เพียงพอ โดยเน้นถั่วเปลือกแข็งชนิดที่มีปริมาณไขมันดีสูง เช่น อัลมอนด์ พิสตาชิโอ วอลนัท ถั่วลิสง บราซิลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และใช้วิธีปรุงด้วยการคั่วหรืออบ งดการทอดเพื่อจำกัดปริมาณไขมันส่วนเกินที่ได้จากน้ำมัน

ที่สำคัญ ควรงดการปรุงแต่งรสที่ไม่จำเป็น เช่น เกลือ ซึ่งมีผลต่อผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจ

ไขมันในอาหารภาคใต้
ไขมันในอาหารภาคใต้ จะได้จากกะทิ

ภาคใต้

คุณเกียรติศักดิ์ ลีสง่า เกษตรกรอินทรีย์ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดชุมพร ผู้มีความสนใจด้านการปรุงอาหารปักษ์ใต้แบบดั้งเดิม เล่าถึงการใช้ไขมันปรุงอาหารในสำรับอาหารภาคใต้ว่า

“พื้นที่ภาคใต้ปลูกมะพร้าวกันมากในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อาหารภาคใต้จึงมีกะทิเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะในเมนูแกง เช่น แกงมัสมั่น แกงเผ็ด แกงคั่วส้ม หรือใช้ในการหมักอาหารให้นุ่ม เช่น ไก่กอและ ซึ่งเป็นอาหารที่พี่น้องมุสลิมในแถบจังหวัดปัตตานีนิยมทำ

“นอกจากนี้คนใต้ยังนิยมกินขนมจีน น้ำยากะทิที่กินกับขนมจีนของภาคใต้มีเอกลักษณ์ คือ ใส่ขมิ้นและเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู หอมแดง ตะไคร้ ข่า เข้มข้นมาก และมักจะใช้ปลาทะเล เช่น ปลาน้ำดอกไม้ที่มีเนื้อละเอียดเหมาะแก่การทำน้ำยามาเป็นวัตถุดิบสำคัญ

“ขนมหวาน ถ้าเป็นคนภาคใต้ดั้งเดิมจะมีให้กินเฉพาะในงานเทศกาล เช่น ขนมที่ใช้น้ำมันมะพร้าวทอดในเทศกาลวันสารทเดือนสิบ แต่ถ้าเป็นช่วงปกติจะกินผลไม้เป็นของหวานหลังมื้ออาหาร นาน ๆ ครั้งจึงจะทำขนมหวาน เช่น ลอดช่องหรือข้าวต้มมัด กินกันบ้าง”

ข้อมูลจาก อัตลักษณ์อาหารไทย 4 ภาค ระบุว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้ชาวใต้มีวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งจากทะเลและแผ่นดิน ส่วนเอกลักษณ์เรื่องการใช้เครื่องเทศมาปรุงเป็นเครื่องแกงรสจัดจ้านนั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนใต้ แกงและน้ำพริกของภาคนี้จึงมีรสจัดกว่าภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

คนใต้นิยมกินข้าวเจ้าและขนมจีนคู่กับอาหารจานหลักที่มีรสจัด ออกรสเผ็ดจากพริกสดและพริกแห้ง รสเค็มจากกะปิ เคย เกลือ น้ำปลา น้ำบูดู ไตปลา รสเปรี้ยวจากส้มแขก ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก ใบชะมวง ไม่ออกรสหวาน

ส่วนเครื่องเคียงมีผักสดจานใหญ่เรียกว่า ผักเหนาะ ช่วยลดความเผ็ดร้อนจากอาหารจานหลัก ประกอบด้วยผักพื้นบ้าน เช่น สะตอ ลูกเนียง กระถิน ใบเหลียง ยอดจิก ใบมะม่วงหิมพานต์อ่อน ขณะที่

ขนมจะมีส่วนผสมหลักจากแป้ง กะทิน้ำตาลตามปกติ กินเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง หรือกินในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ ไม่ได้กินเป็นของหวานทุกวันแบบคนในปัจจุบัน

การกินอาหารให้เป็นยาเช่นนี้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวัตถุดิบที่มีอยู่ ซึ่งเป็นแนวทางดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับคนไทยที่สุด

ชีวจิต เชื่อมั่นว่า สำรับ 4 ภาค ของขวัญจากบรรพบุรุษ จะช่วยให้คนยุคปัจจุบันได้มีองค์ความรู้สุขภาพมาดูแลตนเองและครอบครัวได้อย่างเรียบง่ายและทรงพลังที่สุด

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 468


บทความน่าสนใจอื่นๆ

5 ของบ้านบ้าน เพิ่มไขมันดี๊ดี ป้องกันโรคหัวใจ

ชัวร์หรือมั่ว สารพัดสมุนไพรลดไขมันในเลือด ลดอ้วน มีจริงหรอ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.