อาการก่อนมีประจำเดือน, หลากอารมณ์, ปวดประจำเดือน, ประจำเดือน

อาการก่อนมีประจำเดือน ภาวะป่วนกวนกายใจคุณผู้หญิง

Lady Beware อาการก่อนมีประจำเดือน จู่โจม!

“ปวดท้องน้อย ปวดหัว สิวขึ้น หงุดหงิด รำคาญใจอารมณ์ไม่ดี…อย่าเข้ามาใกล้นะ” อาการก่อนมีประจำเดือน คำพูดที่คุณผู้หญิงหลายๆ คน คงเคยประสบพบเจอในช่วงก่อนวันนั้นของเดือนจะมาเยือน บ้างก็เข้าใจ บ้างก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไรหรือเกิดจากอะไรกันแน่

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นข้างต้นนั้น แท้จริงแล้วหมายถึง  “กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน”  ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า   พีเอ็มเอส (PMS – Premenstrual Syndrome) เป็นภาวะป่วนกวนกายใจที่บอกได้เลยค่ะว่า คุณผู้หญิงที่ละเลยการดูแลสุขภาพรอดพ้นยากเสียจริงๆ …ถ้าไม่เชื่อ ชีวจิต มีข้อมูลมาบอกกล่าวกันค่ะ

 

สาววัยเจริญพันธุ์เสี่ยงพีเอ็มเอสสูง

นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ – นรีเวชวิทยา ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้ความรู้ว่า

“กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนหรือพีเอ็มเอสนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วง 5 – 10 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง เอสโทรเจนและโปรเจสเทอโรนในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ปัญหาจากความเครียด โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

ขณะที่ แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร อธิบายเพิ่มเติมถึงผู้หญิงที่มีโอกาสเกิดอาการก่อนมีประจำเดือนว่า

“กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนี้พบได้มากถึงร้อยละ75 ในผู้หญิงอายุ 30 – 40 ปี และอาการนี้จะหายไปเมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือนถาวร ขณะที่ในผู้หญิงที่ตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างแล้วจะไม่มีอาการนี้”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรุนแรงของภาวะพีเอ็มเอสในปัจจุบันว่า

“ผู้ที่มีอาการพีเอ็มเอสและพีเอ็มดีดี (PMDD -Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง จะถูกรบกวนอย่างมากจากอาการผิดปกติต่างๆ ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ถ้าเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นก็อาจเป็นทุกรอบเดือน รอบละประมาณ 4 – 5 วัน ถ้าคำนวณตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ก็จะมีจำนวนวันที่ต้องทนทรมานจากอาการเหล่านี้สูงถึง 3 – 5 ปีทีเดียว

“สำหรับอุบัติการณ์และข้อมูลในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อเกิดอาการในผู้หญิงแล้วมักจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ ากลุ่มอาการพีเอ็มเอสและพีเอ็มดีดีนั้น มีอุบัติการณ์สูงในผู้หญิงไทย ที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงาน ซึ่งแม้จะมีอุบัติการณ์สูงแต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง”

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.