ความก้าวหน้า รักษามะเร็งระยะลุกลาม ในแวดวงการแพทย์
รักษามะเร็งเต้านม ด้วยยารักษามุ่งเป้าแบบใหม่
ชีวจิต ขอพามาอัปเดทวิทยาการและเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน ว่ามีอะไรน่าสนใจ และมีทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ลดโอกาสเป็นซ้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น มาดูกันเลยค่ะ
ว่าด้วยการรักษามะเร็งเต้านม
ชีวจิต อยู่กับ ผศ. นายแพทย์มาวิน วงศ์สายสุวรรณ ศัลยแพทย์เต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้โอกาสทางทีมงานสัมภาษณ์เพื่ออัปเดทการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน โดยคุณหมอมาวิน กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ซึ่งทำให้เปลี่ยนการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยรายนั้นได้เลย เช่น ในคนไข้มะเร็งเต้านมชนิด HER2 ซึ่งเดิมรู้กันว่ามีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี คนไข้กลุ่มนี้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง แต่หากคนไข้กลุ่มนี้ได้รับยามุ่งเป้าที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะทำให้มีโอกาสหายขาดได้
และถึงแม้จะมียามุ่งเป้าตัวแรกที่คนไข้ส่วนใหญ่เข้าถึงได้แล้ว ดังเช่นทราสทูซูแมป( Trastusumab) แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ได้มีการพัฒนายามุ่งเป้าตัวใหม่ๆ ที่สามารถช่วยคนไข้กลุ่มนี้ให้มีอัตราการหายขาดหรือรอดชีวิตที่มากขึ้นไปอีก ซึ่งนับเป็นข่าวดี และในปัจจุบันยาใหม่ๆ นี้ก็ถูกนำมาใช้กับคนไข้ไทยเราแล้วด้วย
โดยยามุ่งเป้าหรือ targeted therapy เป็นยาที่ออกฤทธิ์อย่างมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์ที่มีความผิดปกติ และไม่มีผลต่อเซลล์ปกติทั่วไป ดังเช่นยาเคมีบำบัด จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์และผลการรักษาดีขึ้น และลดผลข้างเคียงลง
ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้าอาจมีเกิดได้บ้างขึ้นอยู่กับตัวยาและรายบุคคลด้วย แต่อัตราการเกิดน้อยกว่ายาเคมีบำบัดมาก เพราะกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะ ปกติเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตแบ่งตัวเร็วเช่น เส้นผม จะเป็นอีกเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากการได้รับการรักษาแบบไม่เจาะจง ดังเช่นยาจำพวกเคมีบำบัด แต่จะกระทบน้อยลงเมื่อใช้ยามุ่งเป้า
รู้จักกับยามุ่งเป้า และยามุ่งเป้าที่ผสมกับยาเคมีบำบัด
หลังจากพูดคุยกับคุณหมอมาวิน ชีวจิตพบว่า ยามุ่งเป้านั้นมีหลายประเภท และการเลือกใช้ยามุ่งเป้านั้น จะแตกต่างกันออกไปตามแต่เงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วย โดยคุณหมอมาวิน ได้อธิบายว่า ยามุ่งเป้ามีหลายชนิด ขึ้นกับเป้าหมายที่ยาออกฤทธิ์เป็นจุดไหน โดยส่วนมากในการรักษามะเร็งเต้านม ยามุ่งเป้าที่จะใช้จะเป็นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับ HER 2 ซึ่งยาในกลุ่มนี้ก็มีหลายตัวด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมต้องเเตกต่างกันไปในเเต่ละราย แต่กระนั้น การใช้เคมีบำบัดก็ยังจำเป็นตามแต่ลักษณะ ประเภท และระยะของมะเร็งเต้านมที่เป็น
ในมะเร็งเต้านมบางกลุ่มเคมีบำบัดก็ยังคงเป็นการรักษามาตรฐานหลักที่จำเป็นเพราะประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่าผลข้างเคียง เเต่ในบางกลุ่มก็อาจจะเป็นการใช้ร่วมกันกับยามุ่งเป้า เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่มีตัวรับ HER2 ทำให้มีการใช้ยาเคมีบำบัดน้อยลงเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ
เเละในปัจจุบันก็มีนวัตกรรมยาที่มีการผูกยาเคมีบำบัดเข้ากับยามุ่งเป้าด้วย ทำให้มีการออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นเเละผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดเเบบเดี่ยวๆ
โอกาสหายมากขึ้น โอกาสเป็นซ้ำลดลง
สาเหตุหนึ่งของการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ก็คือ ระดับความรุนเเรงของโรค และขนาดของก้อนมะเร็ง โดยกรณีที่มีความรุนแรงของโรคมาก อาจมีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งเล็กๆออกไปบริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้อีก ทำให้การรักษาอาจไม่สามารถกำจัดเซลล์เหล่านี้ออกไปได้หมด จึงมีผลเพิ่มโอกาสการกลับเป็นซ้ำให้สูงขึ้น ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจมีสาเหตุได้ทั้งการรับการรักษาในระยะเริ่มต้นที่ไม่เพียงพอหรือมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่ดีก็เป็นได้เช่นกัน
ปัจจัยที่จะช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำมีหลายประการด้วยกัน ในแง่ของขั้นตอนการรักษาพบว่าในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรักษาตามลำดับขั้นอย่างที่เราคุ้นเคย ได้แก่ ผ่าตัดก่อนจะให้ยา ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่าต้องรีบผ่าตัดออก แต่จริงๆ เเล้วในคนไข้บางราย การให้ยาก่อนผ่าตัดมีข้อดีมากกว่าทั้งในเเง่ของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งยังช่วยลดขนาดก้อนมะเร็งในบางรายที่มีขนาดใหญ่มากยากต่อการผ่าตัด ให้ผ่าตัดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในรายที่ต้องการสงวนเต้านมไว้ เเละยังช่วยประเมินการตอบสนองต่อการรักษาและทำให้เราเลือกยาหลังผ่าตัดได้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายมากยิ่งขึ้น ช่วยในการพิจารณาว่าจะยังควรใช้สูตรเดิมกับก่อนผ่าหรือควรปรับเปลี่ยนเป็นสูตรใหม่ อย่างไรก็ตามการตรวจพบเร็วตั้งเเต่ระยะเริ่มต้นก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะหายขาดได้มากขึ้น และการตรวจคัดกรองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยได้
นอกจากนี้ ในปัจจุบันวิทยาการด้านการรักษามะเร็งก้าวหน้าไปมาก จึงช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการรักษา ดังเช่น นวัตกรรมในของยารักษามะเร็งเต้านมตัวใหม่ที่ได้มีการผูกยาเคมีบำบัดเข้าไปเชิ่อมติดกับตัวยามุ่งเป้าซึ่งจะช่วยทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงจากการรักษา ดังนั้นในคนไข้ที่ภาวะโรครุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาเพียงพออาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมารับยากลุ่มนี้แทนหลังผ่าตัดแล้ว ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งเล็กๆที่ยังคงหลงเหลืออยู่และลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำลงได้ ยกตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น TDM-1
สำหรับการเลือกใช้ ขึ้นกับระยะ ความรุนเเรงของโรค เเละการตอบสนองต่อการรักษาของคนไข้ด้วย เบื้องต้นต้องพิจารณาระยะของโรคก่อน ตัวอย่างเช่น คนไข้มะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับ HER2 หากอยู่ในระยะลุกลาม เมื่อได้รับการรักษาด้วยยามุ่งเป้าตัวแรกไประยะเวลาหนึ่ง ก้อนมะเร็งอาจตอบสนองต่อยาลดลง หรือโรคกลับมาลุกลามอีก ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนการรักษาเป็นยามุ่งเป้าชนิดที่ผูกกับยาเคมีบำบัด TDM-1 ดังเช่นที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว เป็นต้น เพื่อให้คนไข้มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้ความคาดหวังต่อผลการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม จะเป็นในเเง่ประคับประคองเพื่อยืดระยะเวลาของการลุกลามของโรคเเละเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตเป็นหลัก
ส่วนมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ก็จะต้องพิจารณาจากความรุนเเรงของโรคเช่นกัน หากมีความรุนเเรงสูงมีการลุกลามของโรคไปที่ต่อมน้ำเหลือง การใช้ยามุ่งเป้ามาตรฐานเพียงตัวเดียวอาจจะไม่เพียงพอ อาจพิจารณาในการใช้ยาพุ่งเป้าสองตัวร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา หรือในกรณีที่แม้ได้รับยาก่อนการผ่าตัดแล้วแต่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ยังหลงเหลือรอยโรคอยู่ก็ควรจะการปรับเปลี่ยนเป็นยามุ่งเป้าชนิดที่ผูกติดยาเคมีบำบัดเข้าไปแทน TDM-1 ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การรักษามะเร็งเต้านม จะต้องเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปรับชนิดของยาให้เหมาะสมกับระยะของโรค การตอบสนองของผู้ป่วย และความรุนแรงของมะเร็ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาด และลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ ให้ได้มากที่สุด
คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมไม่ร่วง รักษาเต้านมไว้ได้
นอกจากการใช้ยามุ่งเป้า จะลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ รวมทั้งผมร่วงได้ดี ก็นับเป็นการรักษาที่ให้โอกาสผู้ป่วยได้รักษาเต้านมเอาไว้ได้ ไม่ต้องผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมดด้วย
เเต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเเละปัจจัยต่างๆของคนไข้ด้วยว่าสามารถทำได้ไหม เช่น ระยะ ความรุนเเรงของโรค ขนาดของเต้านม ขนาดของก้อน การลุกลามต่างๆ เเต่ละรายอาจมีคำเเนะนำที่เเตกต่างไป ขึ้นกับการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ
โดยคุณหมอมาวิน ได้เน้นย้ำกับเราว่า มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะหากรักษาเร็วตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงปัจจุบันนวัตกรรมต่างๆ ก็พัฒนาไปไกลมากขึ้น เทรนด์การรักษา เป็นแบบจำเพาะบุคคลมากขึ้น คนไข้แต่ละรายได้รับการรักษาที่เหมาะสม จึงทำให้โอกาสหายขาดยิ่งสูงขึ้น
สนับสนุนข้อมูลโดย
ผศ. นายแพทย์มาวิน วงศ์สายสุวรรณ ศัลยแพทย์เต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย