อาหารที่ไม่ควรกิน หลังออกกำลังกาย
รู้ไหมว่า อาหารที่เรากิน หลังออกกำลังกาย นั้นสำคัญพอ ๆ กับการออกกำลังกายเลยนะ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการไปต่อเติม เสริมสร้าง ซ่อมแซม ส่วนที่สูญเสียไปตอนออกกำลังกาย ทดแทนด้วยสิ่งที่จำเป็นและมีคุณภาพ และการเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย จะส่งผลเสียแทนที่จะเป็นผลดี เรามาดูกันว่า มีอะไรบ้าง
ขนมและของหวาน
ถ้าเป็นคนชอบวิ่งในช่วงเช้า แล้วชอบติดกินขนมหวาน ๆ หลังวิ่ง ควรระวัง เพราะอาหารที่อุดมน้ำตาลและไขมันไม่เหมาะกับการกินหลังการออกกำลังกายตอนช้า (อ้างอิงจาก Jim White, RD)
หลังออกกำลังกาย ร่างกายต้องการเติมพลังงานที่สูญเสียไปเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมถัด ๆ ไป สิ่งที่ร่างกายต้องการคือคาร์โบไฮเดรตคุณภาพสูงเพื่อนำไปกักเก็บไปไกลโคเจนที่สูญเสียไป (อ้างอิงจาก American Council on Exercise : ACE) แต่ในอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้ระบบย่อยทำงานได้ช้า กระบวนการเปลี่ยนจากคาร์โบไฮเดรตเป็นไกลโคเจนก็ลดลง
ของทอดและอาหารฟาสต์ฟู้ด
เชื่อว่าหลังออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง หลายคนให้รางวัลตัวเองเป็นอาหารจานทอดต่าง ๆ รวมไปถึงแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่ ๆ และเฟรนซ์ฟรายส์จานโต ๆ ซึ่งโดยทั่วไป อาหารที่ทอดน้ำมันท่วมนั้นเป็นภาระของระบบย่อยอาหารและอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องได้
เพราะอาหารเหล่านี้ใช้พลังงานมากในการย่อย ของทอดจึงทำให้รู้สึกเซื่องซีมแทนการได้รับพลังงาน (อ้างอิงจาก Bonnie Taub-Dix, MA, RDN, CDN นักกำหนดอาหารอาชีพ)
“อาหารที่มีความยากในการย่อยและดูดซึมอาจทำให้คุณรู้สึกเฉื่อยชาอิ่มยาก อาหารที่เต็มไปด้วยน้ำมันอาจเป็นสาเหตุของอาการกรดไหลย้อน (อ้างอิงจาก National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases ) ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณเป็นกรดไหลย้อนอยู่แล้ว การกินของมันของทอดหลังออกกำลังกายมีแนวโน้นจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย
น้ำอัดลมและเบียร์
บางครั้งการออกกำลังกายมาหนักหน่วงก็ต้องการเครื่องดื่มเย็น ๆ เสียหน่อย และหลายคนอาจนิสัยเสียคว้าน้ำอัดลมหรือแม้กระทั่งเบียร์มาดื่มเลยด้วยซ้ำ แต่เครื่องดื่มพวกนี้ไม่ได้เหมาะในการดื่มทดแทนน้ำในร่างกายหลังจากการเสียเหงื่อ ซึ่งการได้รับน้ำอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญมากหลังออกกำลังกาย แต่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะให้ผลตรงข้าม เพราะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ จึงไม่เหมาะที่จะเป็นเครื่องดื่มหลังออกกำลังกาย อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับของหวานที่จะไปทำให้กระบวนการกักเก็บไกลโคเจนทำงานช้าลง และยังมีผลทำให้การซ่อมแซมกล้ามเนื้อลดลงไปด้วย
โปรตีนอัดแท่ง (ที่ผ่านกระบวนการ)
แน่นอนว่าร่างกายต้องการโปรตีนอย่างยิ่งยวดหลังออกกำลังกาย แต่โปรตีนอัดแท่งที่ผ่านกระบวนการมาก ๆ มักมาพร้อมกับส่วนผสมมากมายที่ร่างกายไม่ต้องการ
อย่างเช่น บางยี่ห้อเติมน้ำตาลจำนวนมาก รวมไปถึงสารให้ความหวานต่าง ๆ ที่อาจทำให้ปวดท้องได้ ในบางรายอาจมีอาการท้องอืด มีแก็สในกระเพาะเยอะ ท้องเสีย (อ้างอิงจาก Mayo Clinic)
ดังนั้น หากสายออกกำลังกาย สายฟิตเนสที่พึ่งพาโปรตีนอัดแท่งเป็นแหล่งพลังงานหลังออกกำลังกาย ก็ควรตรวจสอบฉลาก เช็กส่วนประกอบกันให้ดี พยายามเลือกที่มีส่วนผสมที่จำเป็นจริง ๆ มีสิ่งแต่งเติมน้อยที่สุด จะช่วยได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 DIET TRENDS 2020 กินอาหารตามเทรนด์จากกูรูตัวจริง
กิน อาหารตามสั่ง อย่างไร ไม่เสี่ยงโรคไต โรคความดัน โรคเบาหวาน