ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการจัดการกับความรู้สึก
คุณเป็นคนที่… ทำงานภายใต้ความกดดันเรื่องเวลา คาดหวังสูง ไม่สบอารมณ์ สิ่งรอบข้างเป็นประจำ ขุ่นเคือง หงุดหงิด โกรธ โมโห เจ็บใจ อาฆาต และพยาบาท อารมณ์พวกนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณได้ วันนี้เราจะมาช่วย ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้
อารมณ์ดีหนีสโตรก
คุณเป็นคนที่… ทำงานภายใต้ความกดดันเรื่องเวลา คาดหวังสูง ไม่สบอารมณ์ สิ่งรอบข้างเป็นประจำ ขุ่นเคือง หงุดหงิด โกรธ โมโห เจ็บใจ อาฆาต และพยาบาท
หากคุณกำลังมีอารมณ์เช่นที่กล่าวมา คุณกำลังติดบ่วงความเครียด (stress) นายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย สถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงอารมณ์เครียดที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองว่า
“อารมณ์ด้านลบต่างๆ เช่น เครียด ตื่นเต้นตกใจง่าย โมโห วู่วาม ถ้าเป็นบ่อยๆทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ เพราะอารมณ์เหล่านี้ทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงจะนำมาสู่สโตรกได้”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า คนที่มีปฏิกิริยาทางร่างกายตอบสนองต่อความเครียดมาก เช่น มีอาการหัวใจเต้นเร็วความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมองได้มาก
แล้วจะแก้อย่างไร
พยายามพาตัวเองไปอยู่ในสภาวะหรือสถานที่ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายให้เร็วที่สุดอาจใช้เทคนิคเล็กๆน้อยๆช่วยได้ เช่น ใช้กลิ่นหอมบำบัด (aromatherapy)
ในระยะยาวให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับคนสนิท เพราะจะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า เมื่อมีปัญหา นอกจากนี้ควรใช้เวลาว่างกับคนที่รักความสงบและใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่สุดโต่ง
คุณเป็นคนที่…กลัวผิดพลาด ชอบคิดถึงอนาคต หนักใจ ร้อนใจ วุ่นวายใจในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน
ขาดความมั่นใจ ชอบลังเลสงสัย และคลางแคลงใจ
อารมณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นที่มาของภาวะวิตกกังวล (anxiety) การศึกษาของ San Francisco VA Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนที่มีภาวะวิตกกังวลมักจะไม่ค่อยดูแลตัวเอง มักจะกินนอนไม่ถูกต้องและมีแนวโน้มว่าจะสูบบุหรี่และออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ป่วยเป็นสโตรกได้
แล้วจะแก้อย่างไร
รู้จักวางเฉยกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ตลอดจนวางเฉยกับสถานการณ์หรือบุคคลที่ทำให้เกิดเรื่องรำคาญใจ เมื่อทำได้เช่นนี้ความวิตกกังวลจะคลายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นความสงบในหัวใจมากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งคือ ฝึกที่จะบ่นให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการบ่นทางวาจาหรือการบ่นอุบอยู่ในใจ แล้วหันไปจดจ่อกับสาเหตุของปัญหา คิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบและลงมือแก้ทันที
คุณเป็นคนที่…ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีเพื่อนแท้ ไร้ที่พึ่ง หงอยเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือมักรู้สึกเบื่อ ละเหี่ยใจ เอือมระอา ห่อเหี่ยว สิ้นหวัง และหมดอาลัยตายอยาก
หากความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งตามที่กล่าวมาเกิดขึ้นบ่อยๆ ความรู้สึกด้านลบดังกล่าวจะนำมาซึ่งภาวะหดหู่ใจ (depress) ซึ่งอารมณ์นี้จะทำร้ายหลอดเลือดไม่เป็นรองใครเช่นกัน
ดร.โรเบิร์ต เอ็ม. คาร์นีย์ อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ จาก Washington University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนวัยกลางคนที่มีอาการท้อแท้หดหู่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่า
แล้วจะแก้อย่างไร
ทำสวนเป็นยาดีปัดเป่าอาการนี้ได้ชะงัด เพราะการทำสวนทำให้ได้อยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และช่วยให้ได้ออกกำลังกายไปในตัว ทั้งยังสร้างความรื่นรมย์ นอกจากนี้การปลูกต้นไม้และเฝ้าดูจนกระทั่งผลิดอกออกผลยังสร้างพลังใจและความภูมิใจในตัวเอง
เมื่อดูแลใจให้เข้าสู่อารมณ์ที่สมดุลแล้ว เดินหน้าไปปรับวิถีชีวิตกันต่อ เริ่มด้วยเรื่องอาหารการกินที่ถูกต้องค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เทคนิคปรับอาหาร ลดตัวการก่อปัญหา ต้านโรคหลอดเลือดสมอง – ชีวจิต
กินคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหลอดเลือด
5 วิธีซ่อมใจ ไกลโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีรักษาแนวใหม่หยุดโรคหลอดเลือดตีบแดงแข็ง