วันนี้เป็นเรื่องเก่าเล่าซ้ำ แต่ย้ำในแนวใหม่ นั่นคือเรื่อง โรคหลอดเลือดตีบแดงแข็ง กับวิธีการรักษาแนวใหม่ ที่จริง ๆ ก็ใกล้ตัวเรา
โดยววันนี้เรามี คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอกและคอลัมนิสต์คนเก่ง มีเรื่องดี ๆ มาฝากเช่นเคย
ว่าแล้ว ไปติดตามพร้อมกันเลย
“มีโรคประหลาดชนิดใหม่เกิดขึ้นอีกแล้วเหรอ”
อิอิ ไม่ใช่หรอกครับ คำว่า โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า atherosclerosis ก็แปลว่าหลอดเลือดแดงตีบแข็งนั่นแหละ มันเป็นโรคหนึ่งเดียวแท้จริง แต่คนนิยมเอาไปเรียกชื่อตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) บ้าง โรคอัมพาตหรืออุบัติการณ์หลอดเลือดในสมอง (CVA) บ้าง โรคความดันเลือดสูงชนิดปฐมภูมิ (primary HT) บ้าง โรคไตเรื้อรังชนิดปฐมภูมิบ้าง
ทั้งหมดนี้ มีโคตรเหง้าศักราชมาจากเรื่องเดียวกันคือ โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งทั้งสิ้น แต่ละคนก็เรียกกันไปสุดแล้วแต่ว่าโรคจะไปสำแดงเดชที่อวัยวะไหน
ยิ่งไปกว่านั้น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมของคนวัยรุ่นยุคใหม่ก็ยังเป็นโรคพี่น้องกับโรคนี้คือเป็นเบาหวานต้องมีหลอดเลือดแดงตีบแข็งและต้องตาย เอ๊ย..ไม่ใช่ ส่วนใหญ่ตายด้วยโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ไม่ได้ตายด้วยเบาหวานดอก
ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยที่ศึกษาจากการชัณสูตรสมองของคนเป็นโรคอัลไซเมอร์พบว่า นอกจากจะพบเซลสมองงอก่องอขิงและมีสารอะเมอลอยด์แทรกอันเป็นเอกลักษณ์ของโรคอัลไซเมอร์แล้วยังพบหลอดเลือดแดงตีบแข็งในหลอดเลือดเล็ก ๆ ที่เลี้ยงสมองนั้นด้วยเสมอ ไม่แน่นะ ทำไปทำมาโรคอัลไซเมอร์ก็อาจจะเป็นอีกสาขาหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งก็ได้
“เออ..แล้วเอาเรื่องความสับสนในการเรียกชื่อโรคของพวกแพทย์มาพูดทำไม จะสอนให้ชาวบ้านเขามีสมองที่สับสนแบบพวกแพทย์เรอะ”
อิอิ เปล่าพะยะค่ะ ที่เอามาพูดนี้ ผมมีวาระซ่อนเร้นอยู่ 3 วาระ คือ
- โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งและโรคบริวารของมันทั้งหมดที่เรียกเหมาเข่งว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เนี่ย มันเริ่มเป็นกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ใช่มาเป็นเอาตอนแก่เหนียงยานแล้วอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน
- โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งที่ว่าทำให้คนตายเป็นเบือและล้างผลาญเงินงบประมาณการดูแลรักษาจนจะพาหลาย ๆ ประเทศล้มละลายนี้ จริง ๆ แล้วมันเป็นโรคที่ป้องกันได้
- ความเข้าใจที่ว่าโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งที่ว่าใครเป็นแล้วไม่หายต้องตายลูกเดียวนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ความเป็นจริงคือเราพลิกผันให้มันถอยกลับได้ แปลไทยให้เป็นไทยว่า “หายได้”
ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ไม่ได้นั่งเทียนหรือยกเมฆพูดนะครับ แต่พูดตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับมาตรฐานน่าเชื่อถือที่มีคนทำวิจัยกันไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เอาในประเด็นที่ว่าโรคนี้มันเริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อยก่อน หลักฐานยืนยันอันแรกคืองานวิจัยที่รวบรวมผลการผ่าพิสูจน์ศพทหารหนุ่ม ๆ ที่ตายในสนามรบหลายครั้ง นับตั้งแต่สงครามเกาหลีเป็นต้นมา ทุกครั้งให้ผลเหมือนกันหมดว่า ทหารหนุ่มที่ฟิตเปรี๊ยะเหล่านั้นมีโรคหลอดเลือดแดงแข็งเกิดขึ้นแล้ว บางคนเป็นโรคมากถึงกับมีรอยตีบที่มีนัยสำคัญขึ้นที่หัวใจแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีอาการให้เห็นเท่านั้นเอง
งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งเป็น รายงานจากการผ่าศพเด็กฝรั่งที่ตายด้วยโรคอื่นพบว่าเด็กเกือบทุกคนมีไขมันพอกหลอดเลือดเป็นเส้นยาว (fatty streak) ซึ่งเป็นปฐมบทของการเป็นหลอดเลือดแดงตีบแข็งอยู่แล้วตั้งแต่วัยเด็ก
เรื่องนี้ผมรู้มาตั้งนานแล้ว สมัยผมเรียนผ่าตัดหัวใจอยู่เมืองนอก เวลาเด็กตายผมต้องผ่าศพตรวจหัวใจทุกซอกทุกมุมและเห็นเด็กอายุเก้าขวบสิบขวบมีหลอดเลือดหัวใจตีบเรียบร้อยแล้ว
พอผมกลับมาเมืองไทย สมัยนั้นไม่มีคนไทยเป็นโรคนี้ ผมหาคนไข้ผ่าตัดไม่ได้เลย คนไข้คนแรกของผมอายุ 83 ปี นับตั้งแต่นั้นมา คนไข้ที่ผมผ่าตัดก็อายุน้อยลง ๆ คนสุดท้ายที่ผมผ่าตัดบายพาสก่อนบอกลาอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจ มีอายุ 27 ปีเท่านั้นเอง
ป้องกัน โรคหลอดเลือดตีบแดงแข็ง
ประเด็นที่ว่าโรคนี้ป้องกันได้นั้น มีหลักฐานมาจากสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือหลักฐานเชิงระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าชุมชนหรือประเทศที่กินแต่พืชผักผลไม้นั้นหาคนเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งแทบไม่ได้เลย ส่วนที่สองเป็นหลักฐานที่แสดงว่าโรคลดจำนวนลงหากมีการแทรกแซงด้วยการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนอาหารเพื่อลดไขมันในเลือด
ตัวอย่างที่ชัดมากคือชุมชนคาเรเรีย (Karelia) ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาหารการกินในชุมชนอย่างขนาดใหญ่ทำให้การป่วยและการตายจากโรคลดลงไปถึงร้อยละ75ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่ว่าโรคนี้รักษาให้หายได้นั้น ผมไม่ได้หมายถึง การทำบอลลูนหรือบายพาสหรือแม้แต่การใช้ยาลดไขมันหรือยาลดความดันนะครับ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้โรคหาย แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าโรคนี้หายได้นั้นมาจากสองทาง
ทางหนึ่งคือหลักฐานการปรับอาหารในคนไข้อย่างเข้มงวดไปสู่การไม่กินเนื้อสัตว์เลย กินแต่อาหารจากพืช อาหารไขมันต่ำ หรือไม่มีการใช้น้ำมันเลย
หลักฐานอีกทางหนึ่งเป็นการปรับการใช้ชีวิตในสี่ด้านรวมกัน คือกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ร่วมกับการออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการเข้ากลุ่มเพื่อนเกื้อกูล
ในส่วนหลังนี้ ปัจจุบันมีความคืบหน้ามากขึ้นจนบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ยอมให้คนไข้เบิกจ่ายเงินค่ารักษาไปเข้าคอร์สปรับวิถีชีวิตได้เหมือนเบิกจ่ายค่ายาหรือค่าผ่าตัด
การป้องกันและรักษาโรคนี้ต้องทำกันทุกคนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงแก่เฒ่า แต่ไฮไลท์ของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่าในยามที่สังคมไทยไม่มีใครลุกขึ้นมานำชุมชนกวาดล้างโรคแบบแคว้นคาเรเรีย การจะป้องกันหรือจะทำให้โรคหลอดเลือดแดงแข็งหาย คนที่จะทำได้มีอยู่คนเดียวนะครับ..คือตัวคุณเองนั่นไง
อย่างที่คุณหมอบอกนั่นล่ะค่ะ “โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง” เป็นปัญหาที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกัน แต่ก็มีวิธีการรักษาแนวใหม่ นั่นคือการดูแลอาหารการกินอย่างเข้มงวด ลดการกินเนื้อ (เลิกเลยยิ่งดี) เพิ่มการกินผัก ผลไม้ และอาหารจากธรรมชาติ …ตรงใจชีวจิตจริง ๆ
เมนูคนสองใจ จานอร่อยบรรเทาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหัวใจขาดเลือด
โดย อ. วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์
สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคนี้ต้องระมัดระวัง เรื่องอาหารการกินและการประพฤติตัว เป็นพิเศษ
ดิฉันขอแนะนำอาหารสำหรับ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวที่อยากจะลดไขมัน และโปรตีนลง แต่ก็เกรงว่าจะกินไม่อร่อย เหมือนรักพี่เสียดายน้อง ชื่อว่าเมนู“คน สองใจ” ที่รับรองว่าทั้งป้องกันและควบคุม ภาวะของผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และไม่เสียรสสำหรับผู้ป่วยที่ยังรักการกิน อาหารเป็นชีวิตจิตใจทั้งหลายเป็นแน่ค่ะ
เมนูคนสองใจ
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 15 นาที
ส่วนผสม 1 เจี๋ยนเห็ดเพื่อหัวใจ
เห็ดเข็มทอง 60 กรัม
เห็ดแชมปิญอง 60 กรัม
เห็ดนางฟ้า 60 กรัม
เห็ดฟาง 60 กรัม
เห็ดหอมสด 3 ดอก
ดอกไม้จีนแช่น้ำจนนุ่ม 30 กรัม
เครื่องปรุง น้ำมันงา 2 ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วขาว 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ขิงสับ 1 ช้อนโต๊ะ กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 3 ช้อนโต๊ะ พริกไทยเล็กน้อย น้ำตาลเล็กน้อย
วิธีทำ
หั่นเห็ดต่าง ๆ ให้เป็นชิ้นพอคำ ส่วนดอกไม้จีนให้ฉีกเป็นเส้นและล้างน้ำอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีรสเปรี้ยว จากนั้นเติมน้ำมันงา ใส่กระทะ ใส่กระเทียมสับ ขิงสับลงผัดด้วย ไฟกลางให้หอมและเหลือง จึงใส่เห็ดหอม ผัดให้มีกลิ่นหอม ใส่ดอกไม้จีน เห็ด แชมปิญอง เห็ดฟาง และเห็ดนางฟ้าลงผัด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่เห็ดเข็มทอง ตามด้วย ซีอิ๊วขาว น้ำตาล พริกไทย ผัดคลุกเคล้า ชิมให้ออกรสเค็มเล็กน้อย ใส่น้ำละลายแป้ง ลงผัดจนมีลักษณะเหนียวเล็กน้อย ตักใส่จาน
ส่วนผสม 2 ยำพิชิตใจ
ใบบัวบกสด 60 กรัม
เนื้อปลาต้มแล้วฉีก 60 กรัม
เนื้อกุ้งต้มฉีกเป็นเส้น 60 กรัม
ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
หอมเล็ก ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมซอย 2 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมน้ำยำ
เนื้อในเสาวรส 3 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูซอย 1 – 2 ช้อนชา เกลือ 1 – 2 ช้อนชา น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมันงา 2 ช้อนชา น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชาพูน
วิธีทำ
คนส่วนผสมน้ำยำรวมกัน เตรียมไว้ จัดใบบัวบกลงจาน ตามด้วยตะไคร้ซอย หอมซอย กระเทียมซอย เนื้อปลา เนื้อกุ้ง เวลาเสิร์ฟจึงราดน้ำสลัดลงบนจานแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนรับประทาน
การจัดเสิร์ฟควรเสิร์ฟกับจานที่มีการแบ่งจานเป็นสองซีก โดยด้านหนึ่ง ใส่เจี๋ยนเห็ดเพื่อหัวใจและอีกด้านใส่ยำพิชิตใจ รับประทานกับข้าวกล้องหุงใส่กับลูกเดือย และอาจรับประทานกับชาสุขภาพคือชาเจียวกู่หลานใบเตย ทั้งช่วยลดไขมัน ควบคุม ความดันโลหิตสูง และควบคุมน้ำตาล ในเลือดได้
เห็ดต่าง ๆ ช่วยควบคุมไขมันในเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน ลดภาวะเสี่ยงต่อการมีไขมันอุดตัน กระเทียม ช่วยลดไขมันในเลือดดี ขิงช่วยระบบการย่อยอาหาร ป้องกันท้องอืดท้องเฟ้อ ใบบัวบก ป้องกันการอุดตันของเลือด ช่วยการกระจายของเลือดได้ดี บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ตะไคร้ช่วยให้การขับถ่ายปัสสาวะดีขึ้น ขับลมในลำไส้ ดอกไม้จีน บำรุงเลือด บำรุงประสาท ถอนพิษ ช่วยขยายกะบังลม
บทความอื่นที่น่าสนใจ
5 วิธีลดความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเอง
เปิดตำราหมอ ฮิปโปเครตีส ผู้บัญญัติศัพท์ “Cancer” หรือมะเร็ง คนแรกของโลก
สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น
เกลือและโซเดียม ภัยเงียบบั่นทอนสุขภาพ
ติดตามชีวจิตได้ที่