สังเกตลิ้น เพื่อเช็คดูว่า แพ้อากาศ และไรฝุ่นมั้ยนะ
ช่วงปลายฝนต้นหนาว บางคนมักมีอาการ แพ้อากาศ หรือบางครั้งไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศ แต่เป็นเพราะขาดการพักผ่อน มีความเครียด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ก็สามารถทำให้อาการกำเริบได้
แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเช็คลิ้น เพื่อดูอาการแพ้อากาศ ดังนี้
สังเกตลิ้นเช็ค แพ้อากาศ +ไรฝุ่น
มีผู้ป่วยหญิงอายุ 21 ปี คนหนึ่ง มาพบหมอ ด้วยอาการผื่นคันลมพิษที่แขน ขาและลำตัว อาการเป็นๆหายๆมาเกือบ 2 ปีแล้ว โรคมักกำเริบในช่วงนอนน้อย มีความเครียด และมักเกิดหลัง 6 โมงเย็น
เมื่อซักประวัติ พบว่า เธอมีอาการอื่นๆร่วมด้วยคือ เหงื่อออกมากตอนกลางวัน คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขี้หงุดหงิด ปัสสาวะบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมง ประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ ประจำเดือนสีแดงสด มีลิ่มเลือดปน มักมีอาการปวดท้องเมื่อมีประจำเดือน ชีพจรเต้นลื่น เล็ก เร็ว
ส่วนพฤติกรรมด้านอื่นๆของเธอนั้น คือ อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ซึ่งอาจมีไรฝุ่นและสภาพอากาศไม่ถ่ายเท ชอบกินอาหารทะเล ดื่มน้ำเย็น ถ่ายเป็นปกติทุกวัน วันละครั้งไม่เคยเข้ารับการตรวจสกินเทสต์ (Skin Test) ไม่มีโรคประจำตัวและไม่มีประวัติการแพ้ยา
หมอได้ทำการตรวจลิ้น พบว่า ลิ้นมีสีแดงคล้ำ มีตุ่มเม็ดสีแดงคล้ายกับตุ่มในผลสตรอว์เบอร์รี่บนลิ้นและมีฝ้าขาวเป็นเยื่อบางๆ เส้นเลือดใต้ลิ้นมีสีม่วงคล้ำ ริมฝีปากแห้งและคล้ำ
ก่อนจะทำการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยหญิงท่านนี้ เรามาเช็กสภาพลิ้นในภาวะต่าง ๆ กันก่อน
สำหรับคนที่ร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ ฝ้าบนลิ้นจะเป็นสีขาวบาง สามารถมองเห็นลิ้นเป็นสีแดงอ่อน แต่หากฝ้าบนลิ้นค่อยๆเปลี่ยนจากเยื่อบางเป็นเยื่อหนา แสดงว่า การดำเนินของโรครุนแรงขึ้น ในถ้ากลับกัน ถ้าฝ้าบนลิ้นค่อยๆเปลี่ยนจากเยื่อหนาเป็นเยื่อบาง แสดงว่า สุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้น
ฝ้าบนลิ้นชุ่มชื้น แสดงว่า มีความชื้นสะสมในร่างกายค่อนข้างมาก แต่ ถ้า ฝ้าบนลิ้นแห้ง แสดงว่า สารน้ำในร่างกายถูกทำลายไปมาก ซึ่งสามารถแบ่งเป็น ร้อนและย็น แยกชนิดได้จากสี คือ ฝ้าสีเหลืองแสดงว่า ร่างกายมีภาวะโรคร้อน ฝ้าสีขาว แสดงว่า ร่างกายมีภาวะโรคเย็น
เส้นเลือดใต้ลิ้นค่อนข้างคล้ำ แสดงว่า ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี แต่ถ้า เส้นเลือดใต้ลิ้นซีด แสดงว่า มีภาวะเลือดและลมปราณพร่อง
สำหรับผู้ป่วยหญิงท่านนี้ หมอวินิจฉัยจากลิ้นและพฤติกรรมต่างๆได้ว่า ร่างกายอยู่ในภาวะเลือดร้อน ระบบไหลเวียนเลือดติดขัด จึงทำให้มีอาการแพ้ หมอรักษาโดยการให้ผู้ป่วยกินยาสมุนไพรจีนเพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย ทำให้ความรุนแรง ความถี่ และอาการคันลดลง
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราควรสังเกตสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงของเราทุกวัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเช็กลิ้นหรืออาการผิดปกติอื่นๆ รวมถึง ตรวจสอบพฤติกรรมด้านต่างๆในชีวิต เช่น อาหาร อารมณ์ สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของเราทั้งสิ้น
การหมั่นสังเกตเป็นหนทางช่วยป้องกันความป่วยไข้และทำให้สุขภาพแข็งแรงได้ค่ะ
ข้อมูลเรื่อง “สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น” จากนิตยสารชีวจิต
ลิ้นเป็นแผลบ่อย ๆ เตือนไว้เลย โปรดระวัง มะเร็งลิ้น
โรคมะเร็งลิ้น เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งช่องปากที่มีความรุนแรง และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยค่อนข้างมาก โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคมาจากพฤติกรรมสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงพฤติกรรมการเคี้ยวหมาก และการมีแผลบริเวณลิ้นเรื้อรัง ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งลิ้นได้
แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา อนุสาขาด้านศัลยกรรมโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบาย “ลิ้น” เป็นอวัยวะสำคัญในการรับรสชาติ การรับประทานอาหารและการพูด และเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดมะเร็งได้เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า “มะเร็งลิ้น” โดยโรคมะเร็งลิ้น จัดเป็นโรคมะเร็งในช่องปากที่พบบ่อยที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง
อาการแสดงที่ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งลิ้น ได้แก่ มีก้อน เจ็บ หรือมีแผลที่ลิ้นเรื้อรังนานประมาณ 2–4 สัปดาห์ขึ้นไป หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากหากพบว่าเป็นโรคมะเร็งลิ้นตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาหายมีมากกว่า
หลักการวินิจฉัยของโรคมะเร็งลิ้น เบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูลักษณะและขนาดของก้อนหรือแผล และตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้ผลตรวจยืนยันอย่างทางการ รวมถึงอาจมีการทำ CT Scan หรือ MRI ร่วมด้วย เพื่อดูขนาดของก้อนเพิ่มเติม
การรักษาโรคมะเร็งลิ้น จะขึ้นกับระยะของตัวโรคและสุขภาพของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก จากนั้นจะดูความรุนแรงของโรคจากผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดประกอบว่าผู้ป่วยควรได้รับรังสีรักษา และหรือให้ยาเคมีบำบัดต่อไปหรือไม่ ซึ่งหลักการของการผ่าตัดลิ้น ที่สำคัญคือเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออกให้หมด และจะพิจารณาต่อไปว่าสูญเสียเนื้อลิ้นไปเพียงใด และสามารถซ่อมแซมอย่างไรได้บ้าง หากสูญเสียไม่มาก อาจซ่อมแซมโดยการเย็บปิดแผลได้เลย แต่หากสูญเสียเนื้อลิ้นมาก อาจจำเป็นต้องนำเนื้อเยื่อบริเวณอื่นมาซ่อมแซม เพื่อให้ลิ้นมีรูปร่างและการทำงานใกล้เคียงภาวะปกติ เช่น ผิวหนังบางๆบริเวณต้นขา ผิวหนังและหรือร่วมกับกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังแบบหนาบริเวณแขนหรือต้นขายกลอยมาซ่อมแซมซึ่งกรณีนี้ต้องมีการเย็บต่อเส้นเลือด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ บางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่คอร่วมด้วยเนื่องจากมะเร็งลิ้นมักจะมีการแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองที่คอ ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์อาจพิจารณาให้รังสีรักษา และหรือให้ยาเคมีบำบัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียเนื้อลิ้น อาจมีผลต่อการพูด และการรับประทานอาหารไปบ้าง แต่เนื้อลิ้นส่วนที่ยังอยู่ จะสามารถรับรสชาติได้เท่าหรือใกล้เคียงของเดิม
“เวลา” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ในเรื่องของมะเร็งลิ้นก็เช่นกัน หากปล่อยทิ้งไว้นาน แล้วไม่ได้รับการรักษาจนกระทั่งผ่าตัดไม่ได้ หรือมีการลุกลามหรือแพร่กระจายของมะเร็ง การรักษาจะยากลำบากมากกว่า ทำให้เสียโอกาสที่จะรักษาหายไป แต่หากตรวจพบเร็ว อาจจะผ่าตัดได้ในระยะเริ่มต้น การพยากรณ์โรคก็จะดีกว่า โอกาสหายก็จะมากกว่า นายแพทย์ดนุภัทร กล่าว
จะเห็นได้ว่าการเป็นมะเร็งลิ้นนั้นส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเหนือสิ่งอื่นใด การป้องกันการเกิดโรคจึงมีความสำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคเช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลิ้นแล้ว ยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่นๆ และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเวชธานี
บทความอื่นที่น่าสนใจ
แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ
สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
ปรับลิ้นรับรส หยุดมะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง