สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs
สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs หรือโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่สร้างความตื่นตระหนกในสังคมทั่วโลก เพราะทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างมหาศาล แถมยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาประชาชนในแต่ละประเทศสูงลิ่วด้วย
เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนในประเทศมีความแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ วัฒนธรรมการกินอาหารจั๊งฟู้ดมากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รีบกิน รีบทำงาน รีบกลับบ้าน จนลืมออกกำลังกาย ทำให้ลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเดิมหายไป
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรับมืออาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่เราอาจต้องเปลี่ยนกลวิธีเป็นการปรับเข้าหาโรค NCDs โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างให้ห่างจากโรค NCDs แทนก็แล้วกัน
ในทางการแพทย์แผนไทย ระบุว่า โรคเรื้อรังเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากความร้อนจากธาตุไฟพัดพาธาตุลม และธาตุน้ำ ส่งผลให้แรงดันเลือดผิดปกติ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะกลายเป็นลมอัมพฤกษ – อัมพาต ทำให้การรักษายุ่งยาก และสุดท้ายก็จะกลายเป็นอัมพาตแทนได้
ชีวจิตออนไลน์ ขอแนะนำ ชาสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้
ตะกร้าสมุนไพรป้องกันโรค NCDs
1. ชากระเจี๊ยบแดง ลดไขมัน รักษาความดันโลหิตสูง
กลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบ มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งจัดเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ และสามารถลดไขมันในเลือดได้ มีรายงานวิจัยระบุว่า การกินสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบ 2 แคปซูลระหว่างมื้ออาหาร วันละ 3 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอลลดลงภายใน 2 สัปดาห์
วิธีกิน ใช้กลีบดอกกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม บดเป็นผงหรือดอกแห้ง ชงกับน้ำเดือด 300 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น
นอกจากนี้กระเจี๊ยบแดงยังช่วยขับปัสสาวะ รักษาระดับความดันเลือด และฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะฤทธิ์ของความเปรี้ยวที่มีลักษณะเป็นกรด เป็นสารฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี
2. ชาดอกคำฝอย ป้องกันไขมันอุดตัน
ดอกคำฝอย มีสารสีเหลืองส้ม ที่คนโบราณใช้ในการแต่งสีอาหาร รายงานวิจัยระบุว่า น้ำมันดอกคำฝอยสามารถป้องกันไม่ให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงและป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดได้
วิธีกิน ใช้ดอกแห้งปริมาณ 1 หยิบมือ ต้มหรือชงกับน้ำเดือด แล้วดื่ม
ข้อควรระวังการใช้น้ำมันดอกคำฝอย อาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ แผลในกระเพาะอาหาร และประจำเดือนมามากผิดปกติ เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้นกว่าเดิมได้
3.ชาใบหม่อน รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ต้นหม่อนปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารของตัวไหม จากงานวิจัยระบุว่า สารสกัดสารใบหม่อนด้วยน้ำร้อน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหารได้ อีกทั้งไม่พบอาการข้างเคียงอีกด้วย
วิธีกิน ใช้ใบแห้งหรือสด ปริมาณ 1 หยิบมือ ต้มหรือชงกับน้ำเดือด แล้วดื่มวันละ 1-2 ครั้ง
ระวังในผู้ป่วยที่ใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน เพราะใบหม่อนอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลลดต่ำลงมากไปอีก
4. ชามะระขี้นก ปรับฮอร์โมนอินซูลิน
รสขมของมะระขี้นก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น เพราะเข้าไปช่วยลดระดับการใช้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย
วิธีกิน กินมะระสด มื้อละ 2 ผล หรือกินในรูปแบบของชาชง
แต่อย่าเผลอกินเมล็ดผลสุกของมะระขี้นก เพราะว่ามีพิษ และการใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
5.ชาปัญจขันธ์ ลดการดูดซึมน้ำตาล
ปัญจขันธ์มีอีกชื่อเรียกว่า เจียวกู่หลาน มีสารสำคัญที่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของหนูในหลอดทดลอง ทำให้มีความทนต่อกลูโคสดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และไม่พบอาการข้างเคียง
วิธีกิน ใช้ชาปริมาณ 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน ดื่ม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้าและเย็น
ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เนื่องจากชาอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก
6.ชาผักเชียงดา ดีท็อกซ์น้ำตาล
ปัจจุบันญี่ปุ่นได้วิจัยและจดสิทธิบัตรผักเชียงดาในรูปแบบอาหารและชาชงสุขภาพ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพราะพบว่าผักเชียงดามีสารจิมนีมิค เอซิด (Gymnemic acid) ที่ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
วิธีกิน ใช้ชาปริมาณ 3 กรัม ชงกับน้ำร้อนดื่ม วันละ 1-2 ครั้ง
มีตะกร้าของขวัญสุขภาพ สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs ให้คนที่คุณรัก หรือจะเพื่อตัวคุณเองก็ได้ รับรองว่า สุขใจผู้ให้ อิ่มใจผู้รับ แน่นอน
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เยียวยาภาวะ ตับอักเสบ ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
“ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบของคนอ้วน รักษาด้วยสมุนไพร
แจ่วมะเขือเทศ อร่อย ทำง่าย กินต้านการเกิดมะเร็ง
เยียวยาเบาหวาน ด้วยการ เดินย่อย
ติดตามชีวจิตได้ที่