วิธีลดความดันโลหิตสูง

5 วิธีลดความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเอง

วิธีลดความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเอง ทำได้ไม่ยาก

วิธีลดความดันโลหิตสูง สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง โดยวันนี้ เรามี คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก มาให้คำแนะนำ

แต่ก่อนอื่น ชีวจิตอยากชวนคุณมาเรียนรู้ 3 ข้อเท็จจริงที่หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ที่ควรทำความเข้าใจก่อนเข้าสู่วิธีการค่ะ

คุณหมอสันต์ อธิบายว่า สมัยนี้ใคร ๆ ก็เป็นความดันเลือดสูง (ความดันโลหิตสูง) ดังนั้น ถ้าจะทักทายกันให้ทันสมัยก็ต้องทักว่า “ความดันคุณสูงหรือยัง”

น่าประหลาดใจว่า ความชุกในการเกิดโรคความดันเลือดสูงนั้นแตกต่างกันมาก อย่างในชนบทของประเทศอินเดีย ซึ่งผู้คนกินเนื้อสัตว์กันน้อย มีอุบัติการณ์เกิดโรคต่ำแค่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ในประเทศที่คนกินเนื้อสัตว์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น โปแลนด์ อุบัติการณ์เกิดความดันเลือดสูงพุ่งถึง 78 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

ผมเองเคยทำงานวิจัยกับกลุ่มคนที่มาตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาล พบว่า มีคนเป็นความดันเลือดสูง 33 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าคนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับกลาง ๆ ตามเคย ไม่มากไม่น้อย

เป็นความดันเลือดสูงแล้วใครจะทำไม มีอะไรไหม แฮ่ะ ๆ มีสิครับ

งานวิจัย GBD ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบทุ่มทุนสร้างขนาดใหญ่ระดับโลกเพราะได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิของบิลเกตส์ ได้พบข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่า ปัจจัยเดียวที่ใช้ทำนายการเจ็บป่วย การเสียชีวิต และความทุพลภาพของผู้คนทั่วโลกได้อย่างแม่นยำที่สุดก็คือ การมีความดันเลือดสูง

ผมพบว่า สมัยนี้คนไทยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงแล้วมีแฟชั่นอย่างหนึ่งคือ การบ้าวัดความดัน วัดกันตั้งแต่เช้ายันเย็น คนไข้ของผมบางคนวัดความดันทุกห้านาที น่าเป็นห่วงว่า เขาจะเป็นอะไรไปเสียก่อน เพราะความบ้ามากกว่าโรคความดันเลือดสูงเอง

ความดันโลหิตสูง

แล้วเขาจะมารายงานผลให้ผมฟังด้วยนะว่า วัดตอนเช้า ค่าความดันค่อนข้างนิ่ง ไปห้องสุขาก็ยังนิ่ง ไปออกกำลังกายก็ยังนิ่ง กินข้าวเช้าก็ยังนิ่ง พอญาติโทรศัพท์มาหา บ่นปัญหาซึ่งไม่ใช่ปัญหาใกล้ตัวเขาเลย พอวางหูแล้วมาวัดความดัน เขาบอกว่า โอ้โฮ..คราวนี้มันวิ่งขึ้นจู๊ดเลยครับคุณหมอ

คือแค่ฟังญาติบ่น ความดันก็วิ่งได้แล้ว นี่นับเป็นผลวิจัยที่ไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์มาก่อน

กลับมาคุยเรื่องใคร ๆ ก็เป็นความดันเลือดสูงกันดีกว่า คนสมัยนี้เชื่อกันว่า เมื่อแก่ตัวแล้วความดันเลือดจะค่อย ๆ สูงขึ้น ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด แท้จริงแล้ว ความดันเลือดต้องมีค่าปกติไปตลอดอายุขัย แต่ที่ความดันเลือดสูงขึ้นเป็นเพราะการกินอาหารและการใช้ชีวิตผิด

งานวิจัยสุขภาพ ที่เรียกว่า INTERSALT STUDY ได้สำรวจชนเผ่าอินเดียนยาโนมามิ (Yanomani) ที่กินแต่พืช เดินป่าเป็นหลัก ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 10,079 คน ซึ่งกระจายอยู่ใน 32 ประเทศในทวีปอัฟริกา พบว่าไม่มีใครเป็นความดันเลือดสูงเลย ความดันเฉลี่ยอยู่ที่ 95/61 มิลลิเมตรปรอทตลอดอายุขัยโดยไม่เพิ่มขึ้นเมื่อแก่ตัวลง

นอกจากนี้ยังมีระดับเกลือโซเดียมในปัสสาวะต่ำ (0.9 nmol/24h) มีระดับโพแทสเซียมในปัสสาวะสูง ซึ่งวงการแพทย์รู้กันดีว่า โซเดียมซึ่งมาจากอาหารเค็มทำให้ความดันเลือดสูง ส่วนโพแทสเซียมซึ่งมาจากอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ทำให้ความดันเลือดต่ำ

3 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความดันเลือดสูงยังมีอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น

ความจริงที่ 1

ค่าความดันที่วัดที่บ้านเชื่อถือไม่ได้ ส่วนความดันที่วัดที่โรงพยาบาลเชื่อถือได้มากกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริง

งานวิจัยพาเมลา (PAMELA) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง นำคนในชุมชน 3,200 คน มาวัดความดันที่คลินิก จากนั้นให้ติดเครื่องวัดความดันแบบต่อเนื่องตลอดวันไว้กับตัว

นอกจากนี้ยังแจกเครื่องวัดความดันแบบวัดเองกลับไปที่บ้านด้วยโดยให้วัดความดันวันละสองครั้งคือเวลา 7 โมงเช้าและหนึ่งทุ่ม

สรุปว่า วิธีวัดความดันของคนคนหนึ่งจะมี 3 แบบ คือ ความดันที่วัดโดยหมอ ความดันที่วัดเองที่บ้าน และความดันที่วัดจากเครื่องวัดแบบต่อเนื่องตลอดวัน โดยติดตามผลจากคนเหล่านี้เป็นเวลาเฉลี่ย 11 ปี เพื่อดูว่า การวัดความดันแบบไหนจะสัมพันธ์กับการป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากความดันเลือดสูงมากกว่ากัน

ผลปรากฏว่า ค่าความดันจากการวัดทั้ง 3 แบบล้วนมีความสัมพันธ์กับการป่วยและเสียชีวิตใกล้เคียงกัน โดยค่าความดันที่แม่นยำที่สุดคือค่าที่วัดจากเครื่องวัดความดันแบบวัดต่อเนื่องตลอด 24ชั่วโมง รองลงมาคือค่าความดันจากเครื่องวัดแบบวัดเองที่บ้าน ส่วนค่าความดันที่แม่นยำน้อยที่สุดคือค่าความดันที่หมอเป็นผู้วัดในโรงพยาบาล

อนึ่งงานวิจัยพบว่า การวัดความดันของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่โรงพยาบาลจะได้ค่าสูงผิดจากความจริงประมาณ 10 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเรียกว่า ความดันเลือดสูงเพราะเห็นเสื้อกราวด์ของหมอ (White Coat Hypertension)

ความดันโลหิตสูง

ความจริงที่ 2

เมื่อความดันขึ้นจะต้องมีอาการปวดหัว ซึ่งไม่เป็นความจริง

เพราะการมีความดันเลือดสูงไม่สัมพันธ์กับอาการใดๆ จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับอวัยวะปลายทาง เช่น เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่มจากภาวะหัวใจล้มเหลว อัมพาตอัมพฤกษ์จากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเลือดออกในสมอง อ่อนเพลียหรือบวมจากโรคไตเรื้อรัง ปวดปลายเท้าหรือปวดน่องจากหลอดเลือดส่วนปลายตีบ มองเห็นไม่ชัดจากหลอดเลือดที่จอประสาทตาตีบหรือมีเลือดออก

ความจริงที่ 3

ต้องกินยาลดความดันไปจนตาย และต้องกินจำนวนมากขึ้นๆ โดยไม่มีวิธีรักษาอื่นๆ

ความเป็นจริงคือ สามารถทำให้ความดันเลือดสูงหายได้ด้วยการปรับวิถีชีวิต ข้อมูลงานวิจัยสรุปได้ว่า

1. ถ้าลดน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม ค่าความดันตัวบนจะลดได้ถึง 20 มิลลิเมตรปรอท

2. ถ้าปรับไปกินอาหารที่มีพืชผักผลไม้เป็นหลัก ค่าความดันตัวบนจะลดได้ถึง 14 มิลลิเมตรปรอท

3. ถ้าออกกำลังกายให้หนักพอควรสม่ำเสมอ ค่าความดันตัวบนจะลดได้ถึง 9 มิลลิเมตรปรอท

4. ถ้าลดปริมาณเกลือในอาหารลง ค่าความดันตัวบนจะลดได้ถึง 8 มิลลิเมตรปรอท

5. สำหรับคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ถ้าลดหรือเลิกได้ ค่าความดันตัวบนจะลดได้ถึง 4 มิลลิเมตรปอรท โดยคนที่จะทำให้ได้ไม่มีใครอื่นเลย นอกจากตัวเองเท่านั้น ตัวท่านเท่านั้นที่มีอำนาจช่วยตัวท่านได้

เครื่องวัดความดันก็มีแล้ว วิธีการก็มีแล้ว อำนาจดำเนินการก็มีแล้ว แล้วท่านจะรออะไรอยู่อีกละครับ


บทความอื่นที่น่าสนใจ

การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน

เปิดตำราหมอ ฮิปโปเครตีส ผู้บัญญัติศัพท์ “Cancer” หรือมะเร็ง คนแรกของโลก

สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น

เกลือและโซเดียม ภัยเงียบบั่นทอนสุขภาพ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.