“ตรวจภายใน” การตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง
การ ตรวจภายใน โดยสูตินารีแพทย์ การตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานผู้หญิง หรือที่ในทางการแพทย์มักเรียกอย่างย่อๆ ว่า “การตรวจพีวี” (PV : Pelvic Examination, Per Vaginal Examination) คือ การตรวจอวัยวะเพศภายนอกช่องคลอด มดลูก และรังไข่ เพื่อหาความผิดปกติ
การตรวจนั้นอาจใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) ที่มีขนาดเหมาะสมสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิดปกติในช่องคลอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องคลอดและปากมดลูก ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการใช้นิ้วตรวจเข้าไปในช่องคลอด พร้อมกับประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
ตรวจภายในทำไม
- การตรวจภายในเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง ซึ่งมักตรวจร่วมกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือแปปสเมียร์ (Pap Smear)
- ตรวจเพื่อหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคหนองใน
- เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนผิดปกติ ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ตกขาวผิดปกติ เนื้องอกมดลูก ภาวะมดลูกหย่อน อาการปวดบริเวณท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) หรือบริเวณหลัง
- ตรวจเมื่อเริ่มมีการตั้งครรภ์
- ตรวจเพื่อหาร่องรอยในกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ต้องตรวจภายในเมื่อไหร่
- เมื่อร่างกายมีความผิดปกติ และมีความกังวลเกี่ยวกับมะเร็งรังไข่และมะเร็งปากมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาด้านอื่นๆ เกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์
- ในปัจจุบันพบว่าการตรวจภายในแบบทั่วไปยังไม่มีประโยชน์ในผู้ที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ที่ต้องตรวจทุก 3 ปี
- ในผู้ที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงตามดุลพินิจของแพทย์ อาจต้องเข้ารับการตรวจภายในมากกว่าปีละ 1 ครั้ง