ช็อกโกแลตซีสต์,เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

เช็ก 7 สัญญาณ อาการปวดส่อช็อกโกแลตซีสต์

อาการอะไร บอกได้ว่าเสี่ยงช็อกโกแลตซีสต์

ช็อกโกแลตซีสต์ จัดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลังๆ มานี้ เรามักได้ยินสาวๆ พูดถึงบ่อยๆ ซึ่งบางคนรู้ตัวเร็ว บางคนมีอาการผิดปกติแต่ไม่ได้ใส่ใจ วันนี้ แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตจึงมาแนะนำอาการปวดผิดปกติที่อาจมีสาเหตุจากช็อกโกแลตซีสต์

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่,ช็อกโกแลตซีสต์

คำถามจากทางบ้าน

เรียน  คุณหมอชัญวลี ดิฉันเคยป่วยเป็นช็อกโกแลตซีสต์  และได้ผ่าตัดออกไปตอนคลอดลูก  ตรวจภายในทุกปีไม่พบอาการผิดปกติค่ะ  แต่ไม่ได้ตรวจอัพเดตอาการช็อกโกแลตซีสต์  มาพักหลัง รู้สึกว่าปวดท้องน้อยบ่อย ๆ  ปวดหน่วงๆ  โดยมักจะปวดช่วงกลางคืน  บางครั้งปวดกลางดึกจนตื่นขึ้นมา  แล้วก็พยายามไปเข้าห้องน้ำเพื่อนั่งถ่าย  ซึ่งมีแต่ลมออกมา ก็รู้สึกว่าอาการปวดน้อยลง  แต่ไม่หาย  อดทนนอนต่อสัก 30 นาที  อาการจึงจะหายไป  ส่วนเวลามีประจำเดือนจะปวดในวันแรก  จนกว่าประจำเดือนที่เป็นก้อนเนื้อ จะหลุดออกมาจึงหายปวด  เลยอยากเรียนปรึกษาคุณหมอว่า  อาการช็อกโกแลตซีสต์ของดิฉันจะกลับมาหรือไม่  และควรดูแลตัวเองอย่างไร  ขอบคุณค่ะ

ความเห็นจากหมอ

ช็อกโกแลตซีสต์คือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่  นั่นคือ  มีเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกไปเจริญเติบโตที่อวัยวะอื่น ๆ ใกล้มดลูก  เช่น  ผิวมดลูก  ช่องท้อง  รังไข่  ที่หลุดไปอยู่ไกลก็มี  เช่น  ปอด ใต้ผิวหนัง  สะดือ  ฯลฯ  เมื่อไม่ได้อยู่ในโพรงมดลูก เวลาเป็นประจำเดือนเลือดในโพรงมดลูกจึงไหลออกมาได้  แต่เลือดนอกโพรงมดลูกไหลออกมาไม่ได้ กลายเป็นเลือดที่คั่งค้างอยู่ภายใน  สำหรับรังไข่  เลือดเหล่านี้จะรวมกันเป็นถุงเรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์

สามคำสั้นๆในการอธิบายคำว่าช็อกโกแลตซีสต์มีดังนี้ค่ะ เจ็บปวด เรื้อรัง มีลูกยาก

7 อาการส่อโรค

ขอขยายความว่าช็อกโกแลตซีสต์ไม่ใช่มะเร็ง แม้อาจจะเกิดร่วมกับมะเร็งรังไข่ได้สูงกว่าคนที่ไม่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ถึงสามเท่า โดย
อาการที่สำคัญ ได้แก่

1. เจ็บปวด อาการเจ็บปวดของช็อกโกแลตซีสต์อาจเป็นแบบตื้อๆ ตุ้บๆ จี๊ดๆ เสียว ปวดปลาบ ปวดแน่น แบบใดก็ได้ แต่ลักษณะพิเศษของการเจ็บปวดมี7 ข้อ ดังนี้ค่ะ

• ปวดเวลามีประจำเดือน ลักษณะพิเศษ คือ ปวดมดลูกตอนเป็นประจำเดือน ยิ่งประจำเดือนมามากยิ่งปวดมาก

• ปวดแบบก้าวหน้า อาการปวดประจำเดือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น แรกๆปวดพอทน ต่อมาต้องกินยา ต่อมาต้องฉีดยา ต่อมาต้องนอนโรงพยาบาล

• ปวดแบบเรื้อรัง ปวดประจำเดือนนานเป็นปีๆไม่หาย ปวดนานขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นปวดทั้งเดือน

• ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ ลักษณะพิเศษ คือ ปวดเมื่อสอดใส่ลึก เจ็บรุนแรงจนทนไม่ได้

• ปวดเวลาเบ่งอุจจาระ ลักษณะพิเศษ คือ ในช่วงเป็นประจำเดือน หากเบ่งอุจจาระจะมีอาการปวดมากจนต้องหยุดเบ่ง ถ้าเป็นมากจะไม่มีแรงเบ่งอุจจาระ

• ปวดเวลาปัสสาวะ ลักษณะพิเศษ คือ เวลาเบ่งปัสสาวะตอนเป็นประจำเดือนจะรู้สึกเจ็บท้องน้อย อาการปวดแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กระจายไปที่กระเพาะปัสสาวะแล้ว

• ปวดหลัง ลักษณะพิเศษ คือ ปวดหลังเฉพาะเวลาเป็นประจำเดือน

บางคนที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดครบทั้ง 7 ข้อหรือบางคนอาจมีแค่บางข้อ

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่,มะเร็งรังไข่
ผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ควรระวังการกินสมุนไพร และอาหารบางชนิด

2. เรื้อรัง รายละเอียดของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มีดังนี้

โรคนี้พบได้ในผู้หญิงทั่วไปร้อยละ 1.2 – 1.5 แต่ในผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือปวดประจำเดือน พบโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 70 ส่วนผู้หญิงที่มีลูกยากพบร้อยละ 50

พบมากในผู้หญิงอายุ25 – 35 ปี แต่ในวัยรุ่นหรือวัยหมดประจำเดือนก็สามารถพบได้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยมียีนกลายพันธุ์หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้

เกิดมากในคนที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากภายในหรือภายนอกร่างกาย ดังนั้นคนที่มีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยกว่า 11-13 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 51 ปี ชอบกินฮอร์โมนเพศหญิงจากยาหรือสมุนไพร มีโอกาสเกิดโรคสูง

บุคลิกของคนเป็นโรคนี้คือ ผู้หญิงผอมสูง ชอบกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ฟาสต์ฟู้ด

โรคนี้เกิดน้อยในคนที่มีลูกหลายคน ให้นมลูกนานมากกว่า 6 เดือน มีประจำเดือนช้ากว่า 14 ปี หมดประจำเดือนก่อน 51 ปี

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดลดโอกาสเกิดโรค การกินน้ำมันปลา (โอเมก้า-3) ลดการเกิดโรคนี้ได้

ที่ว่าเป็นโรคเรื้อรังคือ รักษาแล้วไม่ค่อยหายขาด จะหายเมื่อมีลูก แต่ผู้ป่วยโรคนี้มักมีลูกยาก จึงไม่ค่อยมีลูก เมื่อมีประจำเดือนก็มักจะ
กลับมาเป็นใหม่ โดยโอกาสที่โรคจะกลับมาเป็นซ้ำหลังผ่าตัดภายใน 2 ปี ร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี ร้อยละ 40-50

3. มีลูกยาก โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบจากเลือดที่เข้าไปสร้างความระคายเคือง สร้างพังผืด ทำให้เซลล์อักเสบ สร้างสารเคมีจากการอักเสบ ทำให้ไข่ไม่ตกหรือไข่ตกแต่ไม่สามารถเข้าไปในท่อนำไข่ ไม่มีการปฏิสนธิ ท่อนำไข่และโพรงมดลูกบิดเบี้ยวจากพังผืด เป็นอุปสรรคต่อการฝังตัวของตัวอ่อน แม้ผ่าตัดรักษาแล้ว โอกาสท้องก็ยังมีต่ำ คำแนะนำของผู้ที่มีบุตรยากและเป็นโรคนี้คือ หลังผ่าตัดส่องกล้องควรใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทำเด็กหลอดแก้ว จะมีโอกาสท้องสูงกว่าปล่อยตามธรรมชาติ

คำแนะนำวิธีป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิด

1. ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง โรคที่กลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดรักษาเกิดจากเหตุผล 2 ประการ หนึ่ง ผ่าไม่หมด สอง โรคกลับเป็นซ้ำจาก
ปัจจัยกระตุ้น เช่น มีฮอร์โมนสูง ดังนั้นหากมีลูกแล้วและเป็นชนิดรุนแรง การผ่าตัดรักษาที่หายขาดคือตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างออก

2. หลังผ่าตัด ควรรักษาต่อด้วยการรับฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนนาน 1-5 ปี หรือจนกว่าจะหมดประจำเดือน หากมีอาการปวดท้องหลังผ่าตัด
ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่

3. ระมัดระวังการรับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน  ไม่ว่าจะจากยาสมุนไพรหรืออาหารที่มีไฟโตเอสโทรเจน

ดังนั้นคนที่เคยเป็นโรคนี้ไม่ควรกินกาวเครือ  ตังกุย  ยาสตรี น้ำมะพร้าว  น้ำเต้าหู้  ถั่วเหลือง  และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำได้


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด : มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น

เนื้องอกในมดลูก ซีสต์รังไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ “3 โรค” ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง

หมอสูติแนะนำ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรคมะเร็งผู้หญิง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.