ตาแห้ง อาการไม่ร้ายแรง ที่เป็นง่าย แต่เราไม่อยากให้เป็น
อาการแสบตา เหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ในตาตลอดเวลา น้ำตาไหล โดยเฉพาะเวลาใช้คอมพิวเตอร์นานๆ จนรู้สึกปวดหัว ปวดตา อาการต่างๆ ที่ว่านี้ จะเป็นอาการของโรค ตาแห้ง หรือไม่ เรามีคำตอบจาก ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝาก
ตาแห้ง เกิดได้อย่างไร
อาการตาแห้ง เป็นภาวะที่มีปริมาณน้ำตาหล่อเลี้ยงผิวตาไม่เพียงพอ สาเหตุหลักมาจากการสร้างน้ำตาน้อยลง หรือน้ำตาระเหยมากไป ส่งผลให้เกิดจากการอักเสบของผิวตา ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เช่น ผู้ป่วยมีโรคบางอย่างเช่น Sjogren’s Syndrome หรือโรคแพ้ภูมิตนเองที่โรคมีการทำลายเซลล์ของต่อมน้ำตา
ช่วงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตาแห้งได้เช่นกัน โดยวัยทองที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือมีการใช้ยาบางอย่าง ยาหยอดตาบางชนิด การรับประทานยาที่มีผลข้างเคียงทำให้การสร้างน้ำตาลดลง ผู้ที่มีความผิดปกติของเปลือกตาหรือเส้นประสาทมาเลี้ยงเปลือกตาทำให้หลับตาไม่สนิท มีการกระพริบตาที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคระบบเส้นประสาทและสมอง
ในบางคนอาจมีการอักเสบของเปลือกตาทำให้เกิดการดึงรั้งของเปลือกตาส่งผลให้ขนตาผิดทิศ งอกทิ่มเข้าตาตัวเองได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีลมแรง อากาศแห้ง หรือการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจเป็นเหตุทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้
อาการของโรค
มีได้หลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกฝืดที่ตา ระคายเคืองเหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ในตา แพ้แสง แพ้ลม บางคนอาจมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียว ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการเคืองตา น้ำตาไหลมากได้ เนื่องจากการระคายเคืองตากระตุ้นให้ต่อมน้ำตาทำการบีบน้ำตาออกมามากขึ้น กรณีที่ตาแห้งมากอาจส่งผลผิวตามีรอยถลอกและเป็นเหตุให้ตามัวได้ เมื่อมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกไม่สบายตา คุณภาพชีวิตแย่ลง หากปล่อยให้ตาแห้งเป็นเรื้อรัง จะทำให้เกิดอักเสบของกระจกตา เกิดเป็นแผลกระจกตาหรือในรายที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อทำให้ตาบอดได้
6 เทคนิค แก้ตาแห้ง ทำง่าย เห็นผลเร็ว
- ชโลมดวงตาด้วยน้ำอุ่น
ประคบดวงตาด้วยน้ำอุ่นประมาณ 10 วินาที จากนั้นให้เปลี่ยนเป็นน้ำเย็น จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นได้ดี - หลีกเลี่ยงการทำงานในบริเวณที่มีแสงจ้าและลมแรง
เพราะจะทำให้ตาแห้งเร็ว ควรใส่แว่นกันแดดช่วย โดยเลือกแว่นขนาดใหญ่ที่มีขอบด้านข้าง จะช่วยลดการระเหยของน้ำตา - ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น
เวลาล้างหน้า ให้กวักน้ำเย็นใส่บริเวณดวงตา แต่ห้ามแรง - กะพริบตาบ่อยๆ
ใน 10 วินาที พยายามกระพริบตา 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการออกกำลังกายตา หรือควรพักสายตาระยะสั้นๆ โดยการหลับตาหรือกะพริบตาอย่างช้าๆ หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 2 – 3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง - กินผักสีเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า
เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ลูทีน และซีแทนซิน ดีต่อจอตา - ดื่มน้ำให้มาก
ช่วยให้ลูกตาสดชื่นดี และมีน้ำหล่อเลี้ยงให้ตา
ตาแห้ง จากการจ้องจอ
นอกจากสาเหตุต่างๆ ที่หยิบยกมาแล้ว การจ้องจอคอมเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เกิดอาการตาแห้งด้วยเช่นกัน โดย แพทย์หญิงภัศรา จงขจรพงษ์ สาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการเป็น โรคตาแห้ง เกิดจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่บังคับให้ต้องใช้สายตาระยะกลางและระยะใกล้ต่อเนื่อง
ส่งผลให้กะพริบตาน้อยลงถึง 3 เท่าจากปกติ ซึ่งคนทั่วไปจะกะพริบตานาทีละ 8 – 12 ครั้ง เมื่อใช้สายตาระยะใกล้และเพ่งมองจอต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นนี้ จึงเหลือการกะพริบตาเฉลี่ยเพียงนาทีละ 4 ครั้ง ทำให้น้ำตาในดวงตาระเหยออก ดวงตาขาดความชุ่มชื้น และเกิดปัญหาตาแห้งตามมา
นอกจากนี้การนั่งทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็มักนั่งในห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศน้อย บวกกับแสงจ้าจากจอคอมพิวเตอร์ ยิ่งส่งผลให้ตาแห้งได้ง่ายมากกว่าปกติ เมื่อบวกกับปัจจัยอื่น เช่น นั่งทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง โดยไม่พักเลย หรือแม้หมดเวลาทำงานแล้ว แต่ไปใช้แท็บเล็ตกับโทรศัพท์ขยายเวลาในการใช้สายตาออกไป ย่อมเพิ่มโอกาสการเกิดโรคตาแห้งได้มากขึ้น
แพทย์หญิงภัศราระบุว่า หากไม่ปรับพฤติกรรม ยังใช้งานดวงตาในสภาวะเดิม ๆ จะยิ่งกระตุ้นให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ถ้าตาแห้งมาก ๆ กระจกตาอาจถลอก เป็นแผล และเกิดการติดเชื้อง่าย การรักษา แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมและใช้น้ำตาเทียมหยอดตา โดยสามารถใช้หยอดตาทุก 1 – 2 ชั่วโมง ขณะที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่ได้ใช้สายตาระยะใกล้ หยอดได้ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือหยอดตามอาการเมื่อรู้สึกว่าตาแห้ง ถ้ามีอาการตาแห้ง เช่น แสบเคืองตา ให้กะพริบตาบ่อยขึ้น เพื่อกวาดน้ำตามาเคลือบผิวตา
วิธีที่ดีที่สุดคือ จัดตารางเวลาเพื่อพักสายตาทุก 1 – 2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งให้พักประมาณ 5 นาที โดยการหลับตาหรือมองไปที่ไกล ๆ เพื่อลดการเกร็งกล้ามเนื้อตา กรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ ต้องปรับท่านั่งให้เหมาะสม เว้นระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอ 20 – 24 นิ้ว และใช้ขนาดหน้าจอตั้งแต่ 19 นิ้วขึ้นไป เมื่อใช้หน้าจอขนาดใหญ่ ในการทำงานย่อมช่วยให้ไม่ต้องเพ่งสายตาและเกร็งกล้ามเนื้อตามากเกินไปที่สำคัญ ไม่ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างมาก เพราะจะรบกวนการมองจอคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อตามากกว่าปกติ
การรักษา
ใช้การหยอดน้ำตาเทียมชดเชยน้ำตาธรรมชาติ และฝึกกระพริบตาให้สม่ำเสมอ อาจทำการประคบน้ำอุ่น นวดและฟอกทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อยู่บริเวณรอบเปลือกตา รวมถึงลดการอักเสบของต่อมไขมันเปลือกตาที่เป็นสาเหตุของต่อมไขมันอุดตัน ทำให้มีเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง อันเป็นผลทำให้เกิดตาแห้งได้ ในกรณีที่ตาแห้งและมีการอักเสบของผิวตามาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของผิวตาและเยื่อบุตา ซึ่งกรณีนี้ไม่แนะนำให้ซื้อยาใช้เอง ควรได้รับการตรวจรักษาโดยตรงกับจักษุแพทย์
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่ามีอาการระคายเคืองไม่สบายตา ในเบื้องต้นสามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ดวงตาบรรเทาอาการก่อนได้ จากนั้นจึงลองสังเกตพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมและมีปัจจัยเสี่ยงว่ามีสิ่งใดที่นำไปสู่ภาวะตาแห้งได้หรือไม่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ควรพักสายตาเมื่อจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน หรือใช้แว่นตาป้องกันแสงแดด ฝุ่นละออง ลมแรง ๆ หรือผู้ที่รับประทานยาใด ๆ ก็ตาม ให้สังเกตว่ามีผลต่อภาวะตาแห้งหรือไม่ หากไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดหรืออาการไม่บรรเทาลง แนะนำให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นที่น่าสนใจ
5 อาการเหมือนหวัด แต่ไม่ใช่หวัด แล้วเป็นโรคอะไร
ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือภูมิแพ้ตา โรคที่ไม่ควรละเลย