หายขาดจาก ไตวาย ด้วยชีวจิต
ให้ชีวจิตดูแล ไตวาย จนหาย ยี่สิบกว่าปีมาแล้วที่ คุณวัชรา กิจเจริญ หรือคุณตุ่ม อายุ 41 ปี (ขณะนั้น) ต้องเผชิญมรสุมรุมเร้าตั้งแต่วัยสาวด้วย โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคเอสแอลอี ทำให้ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลมาตลอด
ขณะที่เธอเองก็ไม่ทราบว่าโรคนี้มีที่มาที่ไปเช่นไร จึงได้เพียงแค่ทานยาและรักษาไปตามอาการเท่านั้น มิหนำซ้ำเรื่องอาหารการกินก็ค่อนข้างตามใจปาก และเนื่องจากทำแต่งาน จึงขาดการออกกำลังกาย แต่ด้วยในใจคิดว่าเพราะตัวเองยังสาว การดูแลสุขภาพจึงเป็นเหมือนเรื่องไกลตัวสำหรับคนในวัยนี้ที่ยังกระฉับกระเฉง
จนเมื่อปี พ.ศ. 2532 เธอต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ต่างแดนกับพี่สาว ซึ่งย้ายไปทำงาน ณ สถานทูตในประเทศเยอรมนี โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เธอได้เพียงหวังพบฝันดีๆ โอกาสดีๆ สักครั้งในชีวิต
อุบัติโรคไต ณ ต่างแดน
ณ ดินแดนใหม่แห่งนี้ ประเทศเยอรมนี ช่วงนั้นเราอายุ 29 ปี พอไปถึงเยอรมนี เราก็ขาดการติดต่อจากหมอ ไม่ได้เช็คหรือรักษาต่อเลย มีเพียงแค่ยาซึ่งถือไปกินบางส่วน
หลังจากอยู่เยอรมนีได้ 1 ปี 3 เดือน อาการเดิมที่เคยเป็นอยู่ก็กำเริบขึ้น และลามไปถึงไต ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นพรวดพราดเกือบ 10 กิโลกรัมในเวลาเพียงไม่กี่เดือนจากอาการบวมน้ำ ซึ่งทำให้เธอต้องไปพบหมอโดยเร็ว
คุณหมอระบุว่าเธอป่วยเป็นโรคไต ซึ่งเป็นผลพวงมาจากโรคเอสแอลอี ต้องนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ 57 วัน ระหว่างนั้นคุณหมอทำวิธีพลาสมาเพื่อช่วยเพิ่มแอลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนตัวสำคัญที่รักษาสมดุลของน้ำในเลือดและเนื้อเยื่อ
เมื่ออาการเริ่มเข้าที่เป็นปกติ กลับมาอยู่บ้าน หากต้องเริ่มกิจวัตรใหม่ คือกินยาคุมโรคและพบหมอเป็นประจำทุกเดือน ถึงแม้เธอจะกลับไปทำงานขายที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้เช่นเคย แต่อาการของโรคก็ยังคงทรงๆ ทรุดๆ อยู่ คงเป็นเพราะอาหารการกินที่เลือกมากไม่ได้จะมีก็แต่เนื้อสัตว์และนมเนย ซึ่งล้วนอุดมไปด้วยไขมัน สิ่งที่ทำก็ได้แต่เพียงนึกย้อนถึงวัยเยาว์ยามที่ต้องเด็ดผักริมรั้วจิ้มน้ำพริกกิน ผักหญ้าที่แลดูไม่มีราคาค่างวดในครั้งนั้นกลับมีค่ามากในสายตาเธอเวลานี้ ถึงแม้อาการจะดีบ้าง แต่ดูเหมือนว่าเวลาในแต่ละวันจะผ่านไปด้วยความยากลำบาก เพราะชีวิตต่างบ้านต่างเมืองเต็มไปด้วยความเหงา
กระทั่งในปี พ.ศ. 2544 อาการของโรคไตก็ทรุดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้หนักกว่าครั้งใดๆ ถึงขั้นไตไม่ทำงาน หมอสั่งให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
ตอนนั้นกินอะไรไม่ลง ตัวเราบวมแล้ว ท้องอืดและใหญ่มาก แลดูเหมือนคนท้อง ถ้านั่งอยู่อย่างนี้ ไตทั้งสองข้างจะห้อยย้อยลงมาเป็นถุงน้ำอยู่ด้านหลัง บางครั้งหายใจไม่ออก เดินสักพักก็เหนื่อยแล้ว จะเหนื่อยง่ายมาก
เมื่อพบคุณหมอ เขาบอกด้วยน้ำเสียงเย็นชาว่า ไตวาย และต้องเปลี่ยนไต หรือต้องล้างไต
เมื่อคุณหมอตั้งคำถามที่ทำให้เธอรู้สึกว่าวินาทีนั้นช่างยาวนานเหลือเกิน อากาศประเทศเยอรมนีที่ว่าเยือกเย็นแล้วไม่เท่าความหนาวเหน็บในใจเธอ
คุณหมอให้เธอตัดสินใจเพื่อเลือกวิธีการรักษา ซึ่งควรจะเป็นวิธีล้างไตที่มี 2 แบบ ระหว่างการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งสะดวกเพราะทำเองที่บ้านได้ แต่ต้องเจาะช่องท้องและเปลี่ยนถุงน้ำยาวันละ 4 ครั้งทุกวันตลอดไป หรืออีกวิธีคือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยฝังสายไว้ที่แขน เพื่อนำเลือดออกมาฟอกผ่านเครื่องฟอกก่อนส่งกลับคืนสู่ร่างกาย แต่ต้องไปทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
นาทีนั้นแม้จะหวาดกลัวเพียงใด เธอบอกหมอว่าจะมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาล การรักษาไตด้วยวิธีเช่นนี้นับเป็นเรื่องทรมานมากสำหรับผู้ป่วย เพราะต้องทำกันตลอดชีวิต และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หากตอนนั้นไตของเธอไม่สามารถกรองโปรตีนหรือทำงานได้อีกแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็มีแต่จะแย่ลง และเธอไม่อยากสูญเสียอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว