ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือภูมิแพ้ตา โรคที่ไม่ควรละเลย
ภูมิแพ้ขึ้นตา หลายคนสงสัยว่าเป็นยังไง แล้วอันตรายแค่ไหน แอดในฐานะผู้มีประสบการณ์บอกเลยว่า ตาบวมเหมือนผึ้งต่อย คันยิบๆ อยากจะเกาตาอยู่ตลอดเวลา และที่น่ากลัวจนละเลยไม่ได้ก็คือ หากเป็นมากๆ อาจกระเทือนไปถึงกระจกตา จนทำให้เป็นรอย หรือบิดเบี้ยวได้ น่ากลัวใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นมารู้จักอาการนี้แบบชัดๆ กันดีกว่า
ปัจจัยเสี่ยงภูมิแพ้ขึ้นตา
ภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยมาจากปัจจัยภายนอก ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา เป็นต้น และคนจะยิ่งเป็นกันเยอะมากขึ้นในช่วง “ฤดูฝุ่น” หรือในช่วงที่มีมลภาวะเยอะๆ ก็ทำให้คนเป็นกันได้มาก นอกจากนี้อล้ว คอนแทคเลนส์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
แต่นอกจากสภาพแวดล้อมที่ได้กล่าวว่าแล้วนั้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิขึ้นตา ได้อย่างคาดไม่ถึงก็คือ กรรมพันธุ์ โดยหากมีพ่อ หรือแม่ ที่เป็นภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสจะเป็นภูมิแพ้ได้ 30 -50% แต่หากว่าทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ เด็กจะมีโอกาสแพ้สิ่งต่างๆ ได้สูงถึง 50 – 70% เลยทีเดียว
อาการของ ภูมิแพ้ขึ้นตา
ภูมิแพ้ขึ้นตาแบ่ประเภทตามอาการว่าทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะใดบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการแพ้ที่ไม่รุนแรง มีแค่การเคืองตาที่บริเวณรอบๆ ดวงตา ไมไ่ด้ไปถึงกระจกตา โดยสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ คือ
- กลุ่มที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง คือ เยื่อบุตาอักเสบเป็นหลัก ยังไม่มีผลกระทบต่อกระจกตา ส่วนใหญ่แล้ว การแพ้ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ได้แก่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือเป็นตามฤดูกาล การใช้คอนแทคเลนส์ ที่ไม่ถูกวิธีหรือใช้งานไม่เหมาะสม ทำให้มีอาการภูมิแพ้แทรกซ้อนได้
- กลุ่มที่มีอาการแพ้ค่อนข้างรุนแรง คือ กระจกตามีการอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บเคืองตา การมองเห็นถูกรบกวน ไม่ใช่แค่คันตาหรือตาแดงเท่านั้น
โดยอาการที่พบได้พบได้บ่อยของภูมิแพ้ขึ้นตาคือ
- คันตา
- ตาแดง
- เคืองตา
- น้ำตาไหล
- เปลือกตาบวม
- ขี้ตาเป็นเมือกสีขาว อาจจะเกาะที่รอบดวงตา หรือเป็นเมือกในดวงตา
- ตาพร่ามัวลง
- หนังตาตก
โรคภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดบริเวณใดของดวงตา
ส่วนใหญ่แล้ว ภูมิแพ้ขึ้นตา มักเกิดขึ้นที่เยื่อบุตาขาว ได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นบริเวณที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เพราะเสี่ยงตาบอดมากที่สุด
ภูมิแพ้ที่มีผลต่อกระจกตา เป็นภูมิแพ้ที่พบได้น้อยกว่า และเมื่ออาการเกิดที่กระจกตาแล้ว จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง สมกับที่เป็นการแพ้ชนิดรุนแรง เนื่องจากทำให้การมองเห็นลดลง หรือมองเห็นภาพไม่ชัดได้
การเกิดภูมิแพ้ที่กระจกตา จนถึงขั้นเป็นแผลเรื้อรังที่กระจกตา อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งหากเป็นแล้วจะรักษาได้ยากมาก รวมถึงเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
ความน่ากลัวของภูมิแพ้ที่กระจกตา คือเมื่อหายแล้ว ก็อาจจะทิ้งร่องรอยแผลเป็นเอาไว้ที่กระจกตาได้โดยที่เราไม่ตัว อาจกลายเป็นแผลเป็นที่กระจกตา ส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ เช่น อาจทำให้ภาพที่มองเห็นมีรอยขีด ไม่ใสชัดเหมือนปกติ ในทางกลับกันหากแผลไม่ปิด ส่งผลให้กระจกตาทะลุ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข และอาจส่งผลให้การมองเห็นสูญเสียไป หรือไม่ดีเหมือนเดิม
ภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดร่วมกับภูมิแพ้อื่นได้หรือไม่
สามารถเกิดร่วมกับภูมิแพ้ที่ส่วนอื่นของร่างกายได้ ในคนที่เป็นภูมิแพ้ อาจมีอาการแสดงออกได้หลายแห่ง ตั้งแต่ที่ ตา ผิวหนัง เพดานปาก และทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอจามเรื้อรัง น้ำมูกไหล ผิวหนังอักเสบ หรือคันที่ผิวหนังร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายมีอาการเพียงบางตำแหน่งของร่างกาย ในขณะที่บางรายเป็นทุกส่วนร่วมกัน
ภูมิแพ้ขึ้นตาส่งผลต่อโรคทางตาอื่น ๆ หรือไม่
หากเป็นภูมิแพ้ตาแล้วขยี้ตา เพราะอาการคัน และถ้าหากมือไม่สะอาด อาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น ตากุ้งยิง เป็นต้น บางรายหากขยี้แรงอาจมีผลกระทบต่อกระจกตา ทำให้กระจกตา ผิดรูปหรือเสียรูปไปจากเดิม นำไปสู่ปัญหาสายตาตามมา นอกจากนี้ในบางรายที่ขยี้แรง ผิวหนังรอบดวงตาอาจเปลี่ยนสี หรือมีรอยเหี่ยวย่นเกิดขึ้นได้
ภูมิแพ้ขึ้นตารักษาได้หรือไม่
สามารถรักษาได้ แต่อาจไม่หายขาด โดยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และรักษาตามอาการ เช่น
- ให้ยาแก้คันเพื่อรักษาอาการคันที่ดวงตา
- ให้ยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการตาแดง
- ในบางรายมีอาการตามฤดูกาล แพทย์อาจให้ยาป้องกันไว้ก่อน เรียกว่ายาป้องกันภูมิแพ้ หากผ่านฤดูนั้นไป สามารถหยุดใช้ยาได้ แล้วควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอื่นๆถ้ามี
ป้องกันโรคภูมิแพ้ขึ้นตา
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความแข็งแรง และมีความสมดุล
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก
- ใช้น้ำตาเทียมชนิดไร้สารกันเสีย หรือน้ำเกลือ เมื่อรู้สึกระคายเคืองตา หรือรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมสัมผัสในดวงตา ก็จะเป็นการป้องกันการเกิดภูมิแพ้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี