วิ่งสยบ ภูมิแพ้
ภูมิแพ้ กลายเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ แต่ถ้าเราดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ก็ไกลจากโรคดังกล่าวได้
ณ พ.ศ.นี้ การวิ่งกลายเป็นการออกกำลังกายฮิตของคนทุกเพศวัย คุณปารัณ เจียมจิตต์ตรง หรือ มิสเตอร์แพรว นักสัมภาษณ์มือหนึ่งของนิตยสารแพรว คือผู้หนึ่งที่หลงใหลการวิ่งจนถอนตัวไม่ขึ้น เพราะกีฬาชนิดนี้ได้เปลี่ยนชีวิตและสุขภาพของเขาไปจริง ๆ
วันนี้ เขาจะมาถ่ายทอดประสบการณ์การวิ่งที่เปลี่ยนวิธีคิด การใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพไปอย่างสิ้นเชิง
ขาดกีฬา…ขาดสุขภาพ
ชายหนุ่ม เล่าถึงการเล่นกีฬาที่เคยเล่นทุกวันในวัยเรียน ซึ่งเจ้าตัวเปรียบเทียบว่า เป็น ‘รักเก่า’ ที่หล่นหายไปนับสิบ ๆ ปี จากเคยเรียกตัวเองว่า “คนบ้าบอล” เพราะชื่นชอบการเตะฟุตบอลมาก ๆ ในสมัยมัธยม แต่ก็ห่างหายจากกันไปนาน โดยเฉพาะเมื่อเขาเข้าสู่วัยทำงาน และหันมาทุ่มเทให้กับภาระหน้าที่ด้านนี้อย่างเต็มที่
“ผมรู้ดีว่า แม้ตารางการทำงานของเราไม่แน่นอน …หยุดออกกำลังกายไปไม่นานนัก โรคภูมิแพ้ก็เริ่มถามหา และมีอาการเรื้อรังจนเพื่อนร่วมงานรู้ดี หลายครั้งเพื่อนๆ พี่ๆ เตือนให้ผมกลับไปพักผ่อน แต่เราก็ยังฝืนนั่งทำงานต่อจนเสร็จ พอหมดวัน ถังขยะข้างโต๊ะทำงานของผมมีทิชชู่เป็นกองเพราะต้องเช็ดน้ำมูกตลอดเวลาครับ”
แม้จะได้ยินคำเตือนจากคนใกล้ตัว แต่คุณปารัณก็ยังฝืนร่างกายต่อไป จนเมื่อร่างกายไปต่อไม่ไหว จึงต้องกลายเป็นแชมป์ภูมิแพ้ตลอดปี 3 วันหายดี 4 วันก็เริ่มกลับมาเยือนอีกแล้ว จนเขาเริ่มมองเห็นว่า อยู่เช่นนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว…
แต่จากคนนั่งติดโต๊ะทำงาน เขาจะเปลี่ยนตัวเองด้วยวิธีไหน มีอะไรเป็นแรงฮึดให้ลุกขึ้นสู้
วิ่ง เปลี่ยนชีวิต… โยนทิ้งโรค ภูมิแพ้
ในปี พ.ศ.2554 ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณปารัณเล่าว่า เขานั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เช้าจนเย็น ขณะที่พักสายตาก็เหลือบไปเห็นรองเท้ากีฬาของตนวางอยู่ที่มุมห้อง
“ตั้งแต่เริ่มทำงาน ผมไม่ได้มีกิจกรรมหรืองานอดิเรกอะไรเป็นพิเศษ ตื่นเช้ามาก็นั่งทำงานแล้วก็กลับบ้านพักผ่อน ทุกวันเป็นอย่างนี้ ไม่ต่างจากรองเท้าคู่นั้นที่วางอยู่ที่เดิมไม่ได้ขยับไปไหน เมื่อคิดได้แบบนั้นผมก็มีแรงฮึดและบอกตัวเองทันทีว่า ‘ไป ๆ ออกไปวิ่งดีกว่า โชคดีว่าที่พักอยู่ใกล้สวนสาธารณะเชิงสะพานพระราม 8 ผมเลยตรงดิ่งลงไปวิ่งทันทีครับ โอ้โห โลกเปลี่ยนเลยครับ (หัวเราะ) ได้เห็นวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา อากาศเย็นสบาย มีผู้คนมาออกกำลังกายมากมาย”
เมื่อได้ออกไปวิ่งทำให้เขามองเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะปรับสมดุลการใช้ชีวิตเสียใหม่ จากนั้นจึงออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาโดยตลอด เน้นวิ่งเมื่อว่าง ไม่เกี่ยงเวลา จนต่อมาเริ่มหันมาร่วมรายการวิ่งมินิมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอน ในเวลาต่อมา
…และเริ่มสังเกตได้ว่า ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อาการโรคภูมิแพ้ที่รุมเร้าอยู่เป็นระยะก็ค่อย ๆ ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ 3 เดือนแรก จนเมื่อวิ่งครบปี ร่างกายก็มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บระหว่างการดำเนินชีวิต
ที่สำคัญ ทำให้เขาได้มิตรภาพดี ๆ กลับมามากมาย
วิ่งจนได้เพื่อนและมิตรภาพ
“กลางปี พ.ศ.2554 ผมเริ่มลงแข่งในรายการมินิมาราธอน ส่วนใหญ่ช่วงนั้นก็วิ่งคนเดียวมาตลอด แต่ด้วยเหตุที่เราอยากจะวิ่งให้ดีขึ้น จึงเริ่มไปหาข้อมูลและออกซ้อมวิ่ง จึงได้พบนักวิ่งคนเก่งๆ มากมาย หนึ่งในนั้น คือ คุณทนงศักดิ์ ศุภการ หรือ พี่นง ซึ่งเป็นไอดอลคนสำคัญท่านหนึ่งของผม”
ชายหนุ่มเล่าว่า ในการทำงานครั้งหนึ่งที่ประเทศสเปน เขาได้พบกับคุณทนงศักดิ์ซึ่งมาทำงานในฐานะช่างภาพ เมื่อได้พูดคุยกันตามประสาคนรักการวิ่ง คุณปารัณจึงขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการวิ่งซึ่งคุณทนงศักดิ์ก็ตอบรับด้วยความยินดีและช่วยปรับท่าทางการวิ่งให้ถูกต้อง พร้อมทั้งให้ยืมรองเท้าวิ่งอีกด้วย
“ผมประทับใจสังคมของนักวิ่งมาก เพราะทุกคนยินดีช่วยเหลือและให้คำแนะนำกันเต็มที่ นอกจากพี่นงแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผมเพิ่งทราบว่ามีศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งกลุ่มวิ่งด้วย ชื่อว่า เทพศิรินทร์รันนิ่ง ครับ ในกลุ่มมีคนหลากหลายวัยครับ บางคนอายุ 50 ปีแล้ว บางคนก็ยังเรียนมัธยมอยู่เลย แต่มีหัวใจเดียวกัน คือ รักการวิ่ง มีไลน์กลุ่มเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนข่าวสาร เปรียบเสมือนห้องสมุดเล็กๆ ที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง”
การวิ่งทำให้ชายหนุ่มได้รับทั้งสุขภาพที่แข็งแรงและมิตรภาพจากบรรดานักวิ่ง ที่สำคัญยังให้เขาได้รับแนวคิดใหม่ ๆ โดย คุณปารัณทิ้งท้ายไว้ว่า
“การวิ่งให้ประโยชน์กับผมมาก แม้ภูมิแพ้ยังไม่หายขาด แต่อาการก็ลดลงมาก ผมรู้สึกสดชื่นขึ้น ทำงานได้ต่อเนื่อง และการวิ่งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมกับแฟนได้ใช้เวลาด้วยกัน เช่น วันหยุดเราก็ออกไปซ้อมวิ่งด้วยกัน
“จากแต่ก่อน เราคิดว่าจะทุ่มเวลาให้งานอย่างเดียว ตอนนี้ผมจัดสรรเวลาได้ดีขึ้น ได้ทำทั้งงาน ได้ออกกำลังกาย และใช้เวลากับคนที่รัก ดังนั้นจึงยังหาจุดที่จะเลิกวิ่งไม่เจอนะครับ และถ้าเราวิ่งไปเรื่อยๆ ร่างกายก็น่าจะแข็งแรงขึ้นและป่วยน้อยลงเช่นกัน”
ชายหนุ่มชี้ให้เราเห็นว่า การจัดสมดุลชีวิตและหันมาแบ่งเวลาเพื่อดูแลสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ ขอเพียงแค่ลองก้าวออกจากสิ่งคุ้นเคยเดิมๆ คุณก็จะมีโอกาสพบมุมมองใหม่ทันที
มาให้ของขวัญแก่ชีวิตตนเองด้วยการวิ่งหรือออกกำลังกายกันนะคะ
เรื่อง “วิ่งบอกลาภูมิแพ้ ฉบับมิสเตอร์แพรว” ตีพิมพ์ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 419
ชีวจิต TIPS เทคนิคการหายใจ ที่มือใหม่หัดวิ่งควรรู้
เทคนิค การหายใจ อย่างถูกวิธีในขณะวิ่งนั้น เป็นสิ่งที่นักวิ่งมือใหม่ควรจะต้องเรียนรู้ และฝึกตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มหัดวิ่งเลย เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถวิ่งไปได้เร็วขึ้น และวิ่งได้นานขึ้นอีกด้วย
การหายใจมี 2 แบบ
- การหายใจด้วยกล้ามเนื้อซี่โครง (Costal หรือ Chest Breathing) คือ เวลาที่เราหายใจเข้าไป หน้าอกจะขยายตัว และหน้าท้องจะยุบ ส่วนเวลาหายใจออกนั้นหน้าอกจะยุบ และหน้าท้องจะขยายตัวหรือพองออก ซึ่งเวลาที่เราวิ่งเร็ว ๆ และวิ่งนาน ๆ จะทำให้จุกเสียดชายโครงได้ง่าย
- การหายใจด้วยกล้ามเนื้อกะบังลม (Abdominal Breathing) คือ เวลาที่เราหายใจเข้า กล้ามเนื้อกะบังลมจะเคลื่อนตัวลง ทำให้ลมเข้าไปในปอด หน้าท้องจะพองหรือขยายตัว และเมื่อเราหายใจออก กล้ามเนื้อกะบังลมจะเคลื่อนตัวขึ้น พุงจะยุบวิธีการหายใจแบบนี้จะไม่ทำให้จุกเสียดชายโครงเวลาที่วิ่งนาน ๆ
ตามปกติแล้วเมื่อวิ่งไปได้สักพัก จังหวะการหายใจของเรา จะปรับเข้ากับจังหวะการวิ่งได้เอง ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่เรารู้สึกว่าลงตัวและรู้สึกสบาย โดยจังหวะในการวิ่งและการหายใจ 2 แบบที่นักวิ่งหน้าใหม่ควรรู้มีดังต่อไปนี้
จังหวะการวิ่ง 2 – 2
- หายใจเข้าพร้อมกับก้าวเท้าขวานับ 1
- เท้าซ้ายลงพื้นนับ 2
- หายใจออกพร้อมกับเท้าขวาลงพื้นนับ 1
- ซ้ายลงนับ 2
- เท้าขวาลงอีกครั้งนับ 1 คือรอบจังหวะการหายใจต่อไป
จะเห็นได้ว่าการหายใจเข้า – ออก จะลงที่เท้าขวาทุกครั้ง จังหวะแรงกระแทกที่ส่งจากช่วงล่างจากเท้าที่กระทบพื้นสู่ช่วงลำตัวและกล้ามเนื้อกะบังลม (Diaphragm) ขณะยืดหดตัวนั้นก็มาจากเท้าขวา ทุกครั้งที่หายใจเราก็ได้รับแรงจากด้านขวาเพียงข้างเดียว
จังหวะการวิ่ง 3 – 2
- จังหวะที่ก้าวเท้าขวาลง และหายใจเข้านับ 1
- ขาซ้ายก้าวนับ 2
- ขาขวาก้าวนับ 3
- ขาซ้ายก้าว และหายใจออกนับ 1
- ขาขวาก้าวนับ 2
- ขาซ้ายลง และหายใจเข้านับ 1 คือรอบจังหวะการหายใจต่อไป
การสร้างจังหวะวิ่ง แบบ 3 – 2 หรือช่วงจังหวะหายใจเข้าจะลงเท้า 3 ครั้ง และหายใจออก 2 ครั้ง จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บได้ดีขึ้น เพราะช่วงที่เราหายใจอยู่นั้น กล้ามเนื้อจะมีการยืดหด และจะเห็นได้ว่าจังหวะหายใจเข้า จะสลับกันระหว่างซ้ายและขวา ทำให้กะบังลมไม่ต้องรับแรงกระแทกอยู่ที่ข้างใดข้างหนึ่งนั่นเอง แต่ในการนำไปใช้ช่วงแรกควรลองฝึกหายใจ โดยการเดินวอร์มอัพเบา ๆ ก่อน เพื่อปรับตัวให้คุ้นเคยกับการหายใจและจังหวะลงของเท้า
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เดิน ขึ้น-ลงบันได เร่งการเบิร์น ช่วยลดน้ำหนัก
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
การเดินส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการ วิ่งจ๊อกกิ้ง
ติดตามชีวจิตได้ที่