อาหารฟาสต์ฟู้ด ดีต่อใจ แต่สมองพัง ความดันสูง

อาหารฟาสต์ฟู้ด กินอร่อย แต่สุขภาพแย่

การกิน อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป หรืออาหารขยะ สำหรับบางคน เปรียบเสมือนการให้รางวัลแก่ตัวเอง วิธีคิดนี้ ส่งผลให้สมองปล่อยสารโดพามีนและสารเคมีอื่น ๆ ที่สมองของเราตีความว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งบางครั้งความคิดถึงและความทรงจำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ดีหรือช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ในชีวิตของเรา ก็เป็นตัวผลักดันความอยากอาหารแปรรูปได้เช่นเดียวกัน

ทำไม อาหารฟาสต์ฟู้ด ทำสุขภาพแย่

อาหารฟาสต์ฟู้ด คืออาหารประเภทกินง่าย กินอร่อย กินได้ไว เช่น เฟรนซ์ฟรายส์ เบอร์เกอร์ อาหารที่มีการแปรรูปและปรุงรสให้อร่อยถูกปากเหล่านี้ เมื่อมองเข้าไปในองค์ประกอบของอาหาร ไม่เพียงแต่เป็นอาหารที่มีสารปรุงแต่ง ผ่านกระบวนการมากมาย ยังอุดมไปด้วย ไขมันเลว โซเดียม คาร์โบไฮเดรต ที่แต่ละอย่าง เป็นตัวก่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมไปถึงโรคหัวใจ

คิดดูเล่นๆ เฟรนซ์ฟรายส์ อาหารแสนอร่อย แท่งเหลืองกรอบ รสเค็มนิดๆ จากมันฝรั่งนำมาทอด ก็ดูเป็นพืชผักดีนี่นา น่าจะไม่อ้วนหรอก เพราะคาร์โบไฮเดรตจากพืชหัวมันทั้งหลายเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ดี ซึ่งในความจริงแล้ว แม้จะเป็นเมนูคาร์โบไฮเดรตจากพืชก็จริง

แต่มันฝรั่งไม่ใช่คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตตัวอ้วน!

เป็นคาร์โบไฮเดรต ที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองน้ำตาลยังไม่ทอด ยังนำไปทอดเพิ่มไขมัน แล้วโรยเกลือเพิ่มโซเดียม เรียกว่าครบวงจรทำลายสุขภาพ โดยเฟรนซ์ฟรายส์ขนาดกลาง ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 16% ของปริมาณที่ร่างกายต้องต่อวันเลยละ แล้วแบบนี้จะไม่ทำร้ายสุขภาพได้อย่างไร ยิ่งเมื่อต้องเสริมความอร่อยด้วยการกินคู่กับน้ำอัดลม ไม่อยากจะคิดเลย

ของหวาน, ขนมหวาน อาหารขยะ อาหารฟาสต์ฟู้ด

อาหารฟาสต์ฟู้ดก่อโรคอะไรได้บ้าง

อาหารเหล่านี้ก่อโรคได้มากกว่าที่คิด หรือในบางทีแม้จะยังไม่ทำให้เป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็อาจเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวันแบบไม่รู้ตัว

ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

อย่างที่บอกว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดผ่านกระบวนการมากมาย รวมถึงสารปรุงแต่งต่างๆ จึงทำให้เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง เมื่อกินเข้าไปแล้ว โซเดียมก็จะไปสะสมในร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อระบบหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบ เปราะ เพิ่มโอกาสหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือแม้แต่โรคหลอดเลือดในสมอง

ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน

กินให้อร่อย รสชาติต้องครบ เค็ม หวาน มั้น เป็นที่มาของ ไขมัน ไขมันทรานส์ น้ำตาล ทอดให้กรอบ ทำให้เกิดไขมันอิ่มตัวในอาหาร เมื่อทานบ่อยๆ ก็จะเกิดการสะสมของคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาเช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ

ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก

สารพัดอาการของระบบทางเดินอาหาร เกิดจากการที่อาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ เน้นที่แป้งเป็นหลัก ผักไม่มี ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง และเนื่องจากไม่มีกากใยอาหาร จึงส่งผลให้ท้องผูก ขับถ่ายยาก และอาจนำไปสู่ริดสีดวงได้ด้วยเหมือนกัน

หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน

การทานอาหารที่แป้งเยอะ น้าตาลเยอะ ส่งผลต่ออารมณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหลั่งสารอินซูลินออกมามากเท่านั้นเพื่อลดน้ำตาลลงในเวลาอันรวดเร็ว และการที่ระดับน้ำตาลเปลี่ยนอย่างฉับไว เพิ่มไว ลดไวแบบนี้ จะส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด แปรปรวนได้

สิวบุก

การกินอาหารที่มีทั้งความมัน ความหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูง จนนำไปสู่การอักเสบ และอย่างแรกที่ร่างกายฟ้องว่าอักเสบอยู่นะก็คือ การเกิดสิว นี่อาจเป็นคำตอบของบางคนว่าทำไมยาแต้มสิวไม่ได้ผล เพราะกินอาหารฟาสต์ฟู้ดในปริมาณมากนั่นเอง

ของทอด, โรคกรดไหลย้อน, กรดไหลย้อน, แก้กรดไหลย้อน, รักษาอาการกรดไหลย้อน อาหารขยะ อาหารฟาสต์ฟู้ด

วิธีควบคุมความอยากอาหารฟาสต์ฟู้ด

วิธีที่ดีที่สุดในการลดความอยากอาหารเหล่านี้ คือ การจำกัดปริมาณอาหารแปรรูปที่คุณกินโดยเริ่มกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อัดแน่นด้วยคุณค่าทางอาหารตั้งแต่มื้อแรกของวัน เพราะถ้าร่างกายมีสารอาหารเพียงพอที่จะรักษาระดับพลังงาน ร่างกายจะไม่ส่งสัญญาณให้คุณกระหายอาหารที่มีน้ำตาลหรือเกลือที่อยู่ในอาหารขยะเหล่านี้

แม้ว่าความอยากอาหารไม่ได้เกิดจากการขาดสารอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะมีบ่อยครั้งที่การจัดกัดอาหารบางอย่างทำให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรีไม่เพียงพอ รวมไปถึงสารอาหารหลักอย่างไขมัน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจึงกระตุ้นให้เรากินอาหารมากขึ้น

ส่วนใครที่อยากกินอาหารสุขภาพ ก็ถือเป็นความอยากที่คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับจิตใจเลย จงทำตามความอยากนั้นและกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อสร้างนิสัยการกินที่ดีให้เคยชิน

7 พฤติกรรมที่ควรหยุดก่อนเสพติดอาหาร

ใครจะคิดว่าอาหารก็สามารถทำให้เราเสพติดได้ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเป็นที่เรียบร้อย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้บ่งบอกพฤติกรรม 7 อย่างที่อาจทำให้คุณเสพติดอาหารโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่คุณกำลังทำอยู่หรือไม่ ไปเช็กพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

  • เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำ หรือมากกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  • กินอาหารชนิดนั้นแล้วไม่อยากหยุดกิน
  • มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
  • แม้ว่าจะไม่หิวก็ยังจะกินอาหารชนิดนั้น
  • หากไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นในวันนั้นจะรู้สึกไม่แฮปปี้ หงุดหงิดเหมือนขาดอะไรไป และอาจมีอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ
  • ไม่มีสมาธิหากไม่ได้กินอาหารชนิดนั้น
  • หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นให้กับตัวเองเสมอ

ที่มา

  • คอลัมน์ Activ Story นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 525
  • โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

15 อาหารล้างพิษ ออกจากร่างกาย

อาหารเสริม กินมากไป อันตรายหรือไม่

งานวิจัยแนะนำ กินอาหารอย่างไร ไม่ให้เป็นไขมันพอกตับ

HOW TO กินอาหารน้ำตาลต่ำช่วยป้องกัน ไขมันพอกตับ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.