PM 2.5 กับโรคมะเร็ง
วันนี้ คงไม่มีใครไม่พูดถึง ฝุ่นละอองในอากาศ หรือ “ฝุ่นพิษ” PM 2.5 เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าหลายคนในพื้นที่เสี่ยงคงพบว่า ออกจากบ้านแล้วทัศนวิสัยในวันนี้มันไม่เหมือนเดิม เพราะสภาพแวดล้อมถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กจนเกิดกระแสแชร์ภาพพื้นที่ต่างๆ บนโลกออนไลน์
สถานการณ์สุ่มเสี่ยง
ทุกวันนี้ เพียงแค่เข้าไปในโซเชียลแล้วพิมพ์คำว่า “ฝุ่นละออง” “ฝุ่นพิษ” “PM2.5” รับรองว่าต้องเจอกับรูปรายงานสถานการณ์จากทางบ้านมากมายที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง
แม้จากสายตาจะดูเหมือนหมอกทั่วๆ ไป แต่เจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ร้ายกาจกว่าฝุ่นละอองปกติขนาด PM 10 มากมาย เพราะมีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกในระดับกระแสเลือดเลยทีเดียว และแน่นอนว่าสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ย่อมไม่เกิดผลดี
มาดูดัชนีคุณภาพอากาศ ที่เว็บไซต์ https://waqi.info/ ได้แสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์กันค่ะ
จะเห็นได้ว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในระดับไม่ดีต่อสุขภาพ (UNHEALTHY) ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเรามาดูว่าเจ้า PM2.5 นี้อันตรายและก่อโรคมะเร็งได้อย่างไรดีกว่าค่ะ
จากบทความ “ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำไมใครก็ว่าร้าย” ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า
ฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอน (PM2.5) จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่นในอากาศ หากปะทะเข้าจมูกหรือปาก ฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่านี้บางส่วนถูกขับออกมาเป็นเสมหะและสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็งหากสะสมอยู่ในอวัยวะใดนาน ๆ จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 รายต่อปี
นอกจากการสูดดมปกติ การสร้างภาวะร่างกายให้เอื้อต่อการรับเอาฝุ่นละอองเข้าไปเพิ่มขึ้นยิ่งอันตราย
จากข่าวทางเว็บไซต์ Spring News ได้เผยความเห็นจากนายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ “หมอเอก” แพทย์ประจำทีม สโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ฝากเตือนผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือ ผู้ที่นิยมการแข่งขันมาราธอน ที่ต้องใช้เวลาวิ่งกลางแจ้งเป็นเวลานานว่า “การที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศ ถ้าหากมีปริมาณมากเกินระดับมาตรฐานแบบนี้ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว”
“ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการสูดควันเข้าไป ดังนั้นถ้าออกกำลังกายในสภาพที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์ จะทำให้สูดฝุ่นเข้าไปได้มาก เพราะเวลาออกกำลังกาย เราจะหายใจเหนื่อย หายใจลึก หายใจเร็ว บางครั้งถึงขึ้นอ้าปากหายใจ ผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นทันที คือ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายของเราพยายามกำจัด ผลของกระบวนการนี้ทำให้มีอาการถึงขั้นหลอดลมตีบ และเป็นหอบหืดได้ นอกจากนี้อาจมีผลต่อหัวใจ ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ ส่วนผลในระยาว คือ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด”
หมอเอก ได้แนะนำถึงการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ว่า “สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือการงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าสภาพอากาศมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ที่เป็นความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจ”
“ในทางแก้ไขปัญหาหมอกควัน ต้องมีต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสมบูรณ์ กับความชื้นในอากาศที่เหมาะสม จึงจะลดปัญหาหมอกควันนี้ได้ แต่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น เกิดจากมีต้นไม้ลดลง มีป่าลดลงนั่นเอง” หมอเอก กล่าวทิ้งท้าย
แน่นอนว่าปัญหานี้ ควรมีมาตรการรับมือในระดับประเทศและระดับนานาชาติ แต่ในเบื้องต้น การป้องกันที่ตัวเราแต่แรก ลดการใช้รถยนต์ ทางเดียวกันไปด้วยกัน และรู้จักป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง ก็เป็นอีกวิธีรับมือที่ควรทำค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อยู่กลางแจ้งต้องระวัง อากาศแปรปรวน สร้างฝุ่น(พิษ)กระทบโดยตรง