ไกลเคชั่น สารเร่งแก่ วายร้ายทำลายผิว
พญ. สาริษฐา สมทรัพย์ กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม ได้บอกถึง
ไกลเคชั่น (Glycation)
คือ ภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโปรตีนในร่างกาย โดยมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะไกลเคชั่นหรือสารเร่งแก่ เพราะร่างกายคนเราประกอบไปด้วยโปรตีนประมาณร้อยละ 26 ซึ่งโครงสร้างของเนื้อเยื่อทั้งหมดมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่จึงได้รับผลกระทบโดยตรง ผลลัพธ์ของไกลเคชั่นคือกลไกที่ทำให้เกิดความเสื่อมและความชราก่อนวัย
ไกลเคชั่นเป็นปฏิกิริยาที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสะสมอยู่ ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้ แต่ในช่วงอายุที่ไม่มากอาจยังเห็นผลน้อยเพราะมีปัจจัยเสี่ยงไม่มาก แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นไกลเคชั่นยิ่งแสดงออกชัดขึ้น เกิดความเสียหายของเซลล์และการตายของเซลล์มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่บางคนอายุน้อย แต่กลับดูแก่กว่าคนวัยเดียวกัน
ผลของปฏิกิริยาไกลเคชั่นสำหรับเรื่องความสวยงาม คือ มีผิวที่เข้มขึ้น ตกกระ มีริ้วรอยความหมองคล้ำบริเวณผิวหนัง มีผลการวิจัยพบว่า ปฏิกิริยาไกลเคชั่นจะเห็นชัดที่สุดในผู้หญิงช่วงอายุ 40 – 50 ปี สิ่งแรกที่เห็นด้วยตาเปล่าเลยคือ สภาพผิวพรรณมีรอยเหี่ยวย่นอย่างเห็นได้ชัด
ทฤษฎีไกลเคชั่นนั้นได้รับการค้นพบโดย ดร.หลุยส์ คาร์มิลล์ เมลลาร์ด (Dr.Louis Camille Maillard) ในปี ค.ศ. 1912 ที่ประเทศฝรั่งเศส บางครั้งในทางการแพทย์จึงเรียกปฏิกิริยานี้ว่า “Maillard Re-Action” แต่ทฤษฎีไกลเคชั่นก็ได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยทีมแพทย์ได้ทำการวิจัยกับผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวานซึ่งมีความเสื่อมของอวัยวะมากกว่าคนไข้โรคอื่นๆ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมีผลของไกลเคชั่นสูงมาก เช่น ภาวะระบบปลายประสาทเสื่อม ไตเสื่อม อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นเลือดเปราะแตกง่าย แผลลุกลามหายช้า
ในแต่ละคนมีการเกิดไกลเคชั่นที่แตกต่างกัน ปฏิกิริยาไกลเคชั่นที่สูงขึ้นวัดค่ามาตรฐานด้วย AGEs (Advanced Glycation End-Products) AGEs คือศัตรูตัวร้ายที่เข้าไปทำลายชั้นผิว คอลลาเจนใต้ผิวหนัง และอีลาสตินที่ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น