การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง ความหวังที่รอคอย!

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง คือ “แนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่” ตอบโจทย์ปัญหาการรักษามะเร็งในคนไทย เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นการรักษาในระดับยีนส์ หรือเซลล์ของเเต่ละคน ทำให้การรักษามีความเฉพาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้น เข้าตรงจุดเเละตอบสนองต่อการรักษาได้ทันที ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งหายได้เร็วมากยิ่งขึ้น

มะเร็งคืออะไร?

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเซลล์มะเร็ง เป็นเซลล์ที่เกิดมาแล้วก็ผิดปกติเลย แต่จริงๆแล้ว มะเร็งก็คือเซลล์ปกติของเราเอง ที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น การทำงานของเซลล์มนุษย์ถูกควบคุมโดยรหัสพันธุกรรม (รหัสดีเอ็นเอ) เหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เซลล์ปกติจะมีระบบซ่อมแซมภายใน แต่ถ้าซ่อมรหัสให้เป็นเหมือนเดิมไม่ได้ ก็จะมีการกลายพันธุ์ถาวร ทำให้เซลล์ดังกล่าวมีการทำงานผิดปกติ เช่น หากยีนควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์กลายพันธุ์ ส่งผลให้เซลล์เหล่านี้เพิ่มจำนวนอย่างไม่จำกัด และไม่ยอมตายตามเวลา

ร่างกายเรายังมีระบบควบคุมมะเร็งอีกแบบโดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่คล้ายตำรวจคอยตรวจตราหาเซลล์ที่ผิดปกติ โดยหากเม็ดเลือดขาวตรวจพบเซลล์กลายพันธุ์ ก็จะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งบางส่วน มีความสามารถในการหลบหลีกการถูกทำลายโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดเพื่อนำอาหารมาเลี้ยงภายในก้อนเนื้องอก จนท้ายที่สุดสามารถกระจายตัวออกจากอวัยวะเดิม จนลุกลามไปสู่ตำแหน่งอื่นๆในร่างกาย

อะไรคือสาเหตุของการเกิดมะเร็ง?

มะเร็งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งเราสามารถรับความผิดปกติดังกล่าวมาได้ 2 ทางหลักๆ คือ

1) การกลายพันธุ์ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่

2) การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง

การกลายพันธุ์ชนิดแรก

คนทั่วไปอาจเคยได้ยินข่าวโด่งดังเมื่อปี 2017 ว่าดาราฮอลลีวูดชื่อดัง แองเจลีน่า โจลี ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าได้รับยีนกลายพันธุ์ชื่อ BRCA1/2 มาจากแม่ของเธอ ซึ่งการรับยีนดังกล่าวมา ทำให้แอนเจลีน่ามีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ถึง 80% หรือมะเร็งรังไข่ได้ถึง 60% เธอจึงตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกแม้ยังไม่เป็นโรค เพื่อลดโอกาสเสี่ยงไม่ให้เกิดมะเร็งขึ้นภายหลัง

ยังมีมะเร็งอีกหลายๆ ชนิดที่ได้มีการวิจัยชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดย ‘ยีนก่อมะเร็ง’ เหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นยีนที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมความผิดปกติของสายรหัสดีเอนเอ ซึ่งในทุกๆ วัน คนเราจะเกิดการกลายพันธุ์บนสายดีเอนเอขึ้นได้มากถึง 70,000 ตำแหน่ง

ดังนั้น หากยีนควบคุมกลไกการซ่อมแซมสายดีเอนเอเกิดความผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนอื่นๆอีกมากมาย จนนำมาซึ่งการเป็นมะเร็งในที่สุด

สำหรับสาเหตุที่สอง

คือการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ลักษณะอาหารที่รับประทาน อาชีพ รวมถึงการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเอง โดยสาเหตุที่มีหลักฐานชัดเจน ได้แก่การรับสารพิษจากการสูบบุหรี่ การติดเชื้อชนิดต่างๆ มลพิษทั้งจากอากาศและจากสารเคมี การถูกแสงแดดอย่างต่อเนื่อง การกินสารเคมีเพื่อปรุงแต่งอาหาร

ล่าสุดยังพบว่า การกินเนื้อแดงที่ได้รับการปรุงแต่ง (process red meat) เช่นไส้กรอก แฮม ก็เป็นการกระตุ้นการกลายพันธุ์ได้ด้วย สาเหตุดังกล่าวทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติของสายรหัสดีเอนเอจนทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติและเลือกที่จะแบ่งตัวแทนการทำหน้าที่เดิม

ก่อนหน้านี้เป็นมะเร็งแล้วมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

ปัจจุบันมีแนวทางการรักษามะเร็งอยู่ 5 วิธีหลักคือ

1) การผ่าตัดเพื่อตัดมะเร็งออกไป

2) การใช้รังสีเพื่อทำลายก้อนมะเร็งแบบเฉพาะจุด

3) การรับยาเคมีบำบัดเพื่อให้ยาพิษกับมะเร็ง

4) การรับยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งสามารถทำลายได้เฉพาะเซลล์มะเร็ง

5) การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือการกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายเราเอง สามารถค้นหาและไปทำลายเซลล์มะเร็งได้

การเลือกใช้วิธีการรักษาแบบใด ขึ้นอยู่กับระยะการลุกลามและชนิดของมะเร็ง สำหรับมะเร็งชนิดก้อน (solid tumor) ที่ยังไม่กระจายตัวเข้าเส้นเลือดเลือด หรือระบบน้ำเหลือง การรักษาจะเน้นการผ่าตัดร่วมกับการใช้รังสี เมื่อมะเร็งเริ่มกระจายตัวเข้ากระแสเลือดหรือเมื่อตรวจพบมะเร็งในอวัยวะอื่น ก็จำเป็นต้องอาศัยการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งในอดีต ยาเคมีบำบัดเป็นทางเลือกเดียวของผู้ป่วยมะเร็งในระยะนี้

ข้อเสียของการใช้ยาเคมีบำบัดคือยา

กลุ่มนี้เน้นการทำลายเซลล์ที่แบ่งตัว ซึ่งในร่างกายของเรามีเซลล์จำเป็นที่แบ่งตัวอีกมากมายในทุกๆวัน นอกเหนือจากเซลล์มะเร็ง เช่น เซลล์ผิวหนัง ลำไส้ เซลล์เม็ดเลือด หรือเซลล์สร้างผม ซึ่งนี่คือสาเหตุหลักของการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด

ยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 200 ชนิด ข้อดีของยามุ่งเป้าคือยาเหล่านี้ทำงานโดยการยับยั้งการทำงานของยีนก่อมะเร็ง ซึ่งมักพบความผิดปกติเฉพาะในเซลล์มะเร็งเป็นหลัก ทำให้ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ต่ำกว่ายาเคมีบำบัด

ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาการรักษาวิธีสุดท้ายซึ่งเรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งคือเซลล์จากร่างกายของผู้ป่วยเอง เซลล์เม็ดเลือดขาวจำแนกความแตกต่างของเซลล์มะเร็งกับเซลล์ปกติจากลักษณะของโปรตีนที่เซลล์มะเร็งผลิตซึ่งมักแตกต่างจากเซลล์ทั่วไปการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะพยายามหาทางทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวระบุความแตกต่างของเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นเพื่อจะได้สามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งก่อนที่จะมีการเพิ่มจำนวนขึ้น

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง
Researcher working with DNA on blurred background.

ทำไมต้องถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็งของคนไทย?

เมื่อเราทราบแล้วว่ามะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ แต่การกลายพันธุ์ในคนแต่ละคนมีลักษณะไม่เหมือนกันทั้งหมด แม้จะเป็นโรคเดียวกัน และการกลายพันธุ์หลายชนิดที่อาจมียาที่ใช้จำเพาะได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่ (next-generation sequencing) เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายถูกลง (จาก 3,000 ล้านบาทต่อรายในปีค.ศ. 2001 เป็น 30,000-100,000 บาทต่อราย ในปัจจุบัน)

การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่เนื่องจากราคาที่ถูกลง เป็นโอกาสให้เราเข้าใจสาเหตุการเกิดมะเร็งถึงระดับโมเลกุล ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นอเมริกา หรือในหลายประเทศในยุโรป ได้มีการลงทุนถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็ง จนสามารถระบุถึงลักษณะการกลายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในมะเร็งชนิดต่างๆ นอกจากนั้นยังได้นำข้อมูลดังกล่าวมาหาความสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อยาต้านมะเร็งกลุ่มต่างๆ จนทำให้พบว่า การกลายพันธุ์ชนิดใดสามารถพยากรณ์ระดับการตอบสนองต่อยาต้านมะเร็งชนิดมาตรฐานแบบต่างๆได้อย่างแม่นยำ

ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยมะเร็งคนไทยจำนวนกว่า 80,000 รายต่อปีที่ต้องเสียจากโรคมะเร็ง ผู้ป่วยดังกล่าวคือกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม คือไม่สามารถตัดเซลล์มะเร็งออกหรือไม่ตอบสนองต่อการฉายรังสี โดยต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านมะเร็งแบบต่างๆ

อย่างไรก็ดี เรายังไม่ทราบความแตกต่างของลักษณะการกลายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทย การกลายพันธุ์บางชนิดเราพบได้เฉพาะในผู้ป่วยไทย ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลวิจัยของชนชาติอื่นได้ การถอดรหัสพันธุกรรมยีนก่อมะเร็งของคนไทย จะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาที่มีความเหมาะสมสูงสุดกับผู้ป่วยมะเร็งคนไทยแต่ละราย โดยเฉพาะในโรคที่ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลดี หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมักดื้อยามาแล้วหลายขนาน โดยเราหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การรักษาใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสหายขาด

ศิริราชมีงานวิจัยอะไรมาแล้วบ้าง?

ศิริราชมีโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมะเร็งของคนไทย เป็นการรักษาด้วย “การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง” ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลมาได้ในระดับ 200-500 รายจากมะเร็งหลายๆ ชนิด เรามีโครงการศึกษายีนก่อมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ซึ่งได้เริ่มทำในมะเร็งเต้านมมาแล้วกว่ามากกว่า 300 ราย และกำลังขยายผลไปในมะเร็งลำไส้และทางเดินอาหาร

นอกจากนี้เรายังมีโครงการสร้างคลังโมเดลมะเร็งเพาะเลี้ยงเพื่อการวิจัยหาแนวทางการรักษาใหม่ที่จำเพาะกับผู้ป่วยมะเร็งคนไทย

โครงการเหล่านี้มีเป้าหมายโดยรวมเพื่อส่งเสริมการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีแนวใหม่และนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้แบบจำเพาะรายบุคคล เราเรียกการรักษาแบบนี้ว่า การแพทย์แบบแม่นยำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษามะเร็งแบบเดิมที่ให้ยาผู้ป่วยแบบ “one-size-fit-all” การแพทย์แบบแม่นยำ จะพยายามเลือกยาที่เหมาะกับสาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วยทุกๆ ราย นอกจากนี้เรายังมีความต้องการนำยาต้านมะเร็งที่มีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติประมาณ 30 ชนิด ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของยาต้านมะเร็งที่มีใช้อยู่จริงในขณะนี้ มาใช้ประโยชน์ในการรักษามะเร็งอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งการทดลองในห้องทดลองกับเซลล์เพาะเลี้ยง และการทดสอบจริงกับผู้ป่วยอาสาสมัครเชิงคลินิก เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วย

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง
Medical scientist conducting research of blood sample for hematologic diseases

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง  คืออะไร?

หลายคนสงสัยว่า การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง (precision medicine) คืออะไร คำนี้อาจไม่คุ้นหูเพราะเป็นแนวคิดใหม่ที่เน้นการใช้ข้อมูลจีโนม (genome) หรือดีเอ็นเอ (DNA) ร่วมกับข้อมูลทางชีววิทยาอื่นๆในการวิเคราะห์และทำนายว่าผู้ป่วยรายใด ควรได้รับการรักษาที่ดีที่สุดโดยการรักษาแบบใดตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษา เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การรักษาโรคต่างๆ ของมนุษย์โดยเฉพาะการใช้ยารักษา (medical treatment) ผู้ป่วยทุกรายที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน ล้วนได้รับการรักษาเหมือนกันหมด แต่จะมีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่ได้ผลจากการรักษา ในขณะที่มีผู้ป่วยบางรายไม่ได้ผล เมื่อไม่ได้ผลผู้ป่วยต้องเปลี่ยนการรักษาด้วยยาชนิดที่2,3,4 ต่อไป

การลองปรับสูตรยารักษาโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะยาส่วนใหญ่เป็นยากินที่ผลข้างเคียงไม่มากนัก และผู้ป่วยมีเวลาในการติดตามผลการรักษาได้ แต่ในบางโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็ง ผู้ป่วยไม่สามารถเลี่ยงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาเคมีบำบัดได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วงเม็ดเลือดขาวต่ำ ซีด เกล็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรง และเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดสูตรแรก ก็ต้องเปลี่ยนสูตรยาและดูผลการรักษาเป็นวงจรเดิม ในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีเวลานานพอ และร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรอการหายาที่เหมาะสมที่สุดได้

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง ในโรคมะเร็งหรือ “Cancer Precision Medicine” เป็นแนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่ ที่จะทำการตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็งของผู้ป่วยเช่น ดีเอ็นเอจากก้อนมะเร็ง แล้วใช้ผลตรวจนั้นในการทำนายว่าผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายจะมีการตอบสนองดีที่สุดต่อยาใด แล้วเลือกยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ตรงจุดกับความผิดปกติของดีเอ็นเอที่พบ เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกยารักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และมีโอกาสได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงของยาที่ไม่จำเป็น

โครงการวิจัยการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็งเป็นงานวิจัยบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่มุ่งตอบโจทย์ปัญหาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย โดยศึกษามะเร็งชนิดต่างๆ จากผู้ป่วยไทยพัฒนาการตรวจ DNA ของผู้ป่วยมะเร็งในการเลือกยาที่รักษาได้ตรงจุด นอกจากนี้ยังพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยให้เป็นก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็ก (organoid) ในห้องแลบ เพื่อใช้ทดสอบยาต้านมะเร็งและบอกผลการตอบสนองต่อยาก่อนการให้ยากับผู้ป่วยจริง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและสร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็งแนวใหม่ของประเทศไทย

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง
Patients women saline drilling

ประโยชน์และเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้?

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อริเริ่มการสร้างฐานข้อมูลรหัสมะเร็งจากผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจากประชากรไทยให้ได้ครบมากกว่า 2,000 ราย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเทียบเคียงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทยและเพื่อกระตุ้นการวิจัยมะเร็งที่มีความจำเพาะกับประชากรไทย ด้วยต้นทุนการถอดรหัสมะเร็งกว่า 100,000 บาทต่อราย เราจำเป็นจะต้องใช้ต้นทุนการวิจัยมากกว่า 200 ล้านบาทในการสร้างฐานข้อมูลและการวางรากฐานการวิจัยดังกล่าว โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม 1 ใน 3 รายสามารถทราบชนิดยาหรือแนวทางการรักษาที่มีความจำเพาะระดับรายบุคคลและมีโอกาสรับยาสมัยใหม่เพื่อใช้รักษามะเร็ง

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต โครงการนี้จะนำมาซึ่งมาตรฐานใหม่ของการรักษามะเร็งที่มีความจำเพาะกับผู้ป่วยมะเร็งไทย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น และช่วยลดผลข้างเคียงจากการรับยาที่ไม่เหมาะสม ในระดับประเทศ การทราบถึงสาเหตุการเกิดมะเร็งระดับโมเลกุลจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกฝ่ายมีโอกาสเข้าถึงยาชนิดใหม่ๆ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ถ้าไม่มีงานวิจัยนี้จะส่งผลเสียอย่างไรกับคนไทย?ประเทศไทย?

ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาแบบ one-size-fit-all ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 30 ที่ตอบสนองกับยาต้านมะเร็งที่ใช้อยู่ในระบบสาธารณสุข หากไม่มีงานวิจัยนี้ เราจะไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยอีกกว่าร้อยละ 70 ได้รับผลการรักษาที่ดีขึ้นได้

ในระดับประเทศ การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีปัจจุบัน นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤต ซึ่งหากเราทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งแล้วเน้นการนำเงินมาใช้ในการป้องกัน การคัดกรอง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศโดยรวม แต่จะทำเรื่องดังกล่าวได้ เราจะต้องมีฐานข้อมูลรหัสมะเร็งนี้

ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันเราต้องนำเข้ายาต้านมะเร็งทั้งหมดจากต่างประเทศซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมหาศาล ฐานข้อมูลรหัสมะเร็งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นวงการวิจัยและภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศ ให้มาร่วมลงทุนในการผลิตยาต้านมะเร็งภายในประเทศเอง

การแพทย์แม่นยำรักษามะเร็ง จะเป็นไปได้มาเเค่ไหนอยู่ที่ทุกๆคนช่วยกันระดมทุนนะครับ

 


ที่มา

“CANCEL CANCER FESTIVAL 2019” เทศกาลดนตรี ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ 2-3 มีนาคม 2562 หน้าลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ งานนี้จัดขึ้นโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถานวิทยามะเร็งศิริราช และ Art for Cancer by Ireal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินทุนสมทบเข้า “กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” ในศิริราชมูลนิธิ เพื่อใช้ในการวิจัยรักษาโรคมะเร็ง และหาแนวทางการรักษามะเร็งที่แม่นยำสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

ภายในงานมีกิจกรรมสนุกๆ สอดแทรกเนื้อหาสาระ ทั้งฟรีคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง อาทิ แสตมป์ อภิวัชร์, สิงโต นำโชค, ป๊อด โมเดิร์นด็อก, BNK48, ละมุนแบนด์ ฯลฯ รวมทั้งมีบูธขายของงานอาร์ต ซุ้มวาดรูป และเวิร์คชอป จากกลุ่มศิลปิน Art for Cancer และศิลปินนักออกแบบที่มาร่วมงาน บูธอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงร้านอาหารและขนมเมนูพิเศษ ซุ้มต่างๆ และซุ้มเขียนถุงส่งกำลังใจต่อให้ผู้ป่วยมะเร็ง รพ.ศิริราช ฯลฯ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.