โรคไข้ฉี่หนู โรคร้ายที่มาพร้อมฝน กรมควบคุมโรค แนะนำ หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน
ฝนตกหนักแทบทุกวัน อย่ามัวแต่ห่วงเพียงโรคโควิด-19 เพราะยังมีอีกโรคที่น่ากลัวอย่าง โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน ช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ขอให้ประชาชนระมัดระวังอาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงสัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามท้องถนน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรอาจต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานขณะเตรียมพื้นที่ก่อนการเพาะปลูก อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย โดยเชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อได้
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วย 476 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 35-44 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง ยะลา พังงา สงขลา และพัทลุง ตามลำดับ โดยจากข้อมูลในปีนี้พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 323 ราย (ร้อยละ 68) และผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ก็อยู่ในพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน
สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนู คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากที่น่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำ เป็นเวลานานแล้ว มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที ตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ
2.หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ
3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที