ใช้สื่อ ออนไลน์ อย่างเข้าใจ ปลอดภัย ไร้โรค และมีรอยยิ้ม
ในยุคนี้เราคงปฏิเสธกันไม่ได้แล้วว่า สังคม ออนไลน์ ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้คนมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
…อะไรทำให้เราใช้เวลากับโลกเสมือนจริงมากขนาดนั้น และจะใช้อย่างไรให้มีความสุข วันนี้มีคำตอบ
เมื่อชีวิตติดออนไลน์
ความจริงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้แยกตัวเองจากผู้อื่นอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเรายังคงเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านสังคมออนไลน์…แทบจะทุกเวลาที่มีโอกาส
จากการสำรวจโดยสื่อโฆษณาออนไลน์ทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ให้ผลตรงกันว่า ผู้คนใช้เวลากับสังคมออนไลน์ผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจากวันละ 1.66 ชั่วโมง เป็น 1.72 ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 28 – 30 ต่อวัน โดยหักลบเวลาพักผ่อนและทำงานออกไปแล้ว โซเชียลมีเดียที่ฮิตที่สุดคือ เฟซบุ๊ก ตามมาด้วยยูทูบ และทวิตเตอร์ ตามรายงานของสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์
พอล แอดัมส์ (Paul Adams) นักสื่อสารแบรนด์ผู้เคยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของเฟซบุ๊ก เขียนถึง 4 เหตุผลที่ผู้คนเลือกสื่อสารกันผ่านสังคมออนไลน์ลงใน Grouped : How small groups of friends are the key to influence on the social web ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของเขาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- เพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น
เมื่ออยู่ในยุคหินเราสร้างภาษาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น เช่น แหล่งอาหารสัตว์อันตรายหรือบอกเล่าสภาพอากาศ ในยุคโซเชียลก็ไม่ต่างกัน เรายังตั้งสเตตัสด้วยเหตุผลเดิม นั่นคือต้องการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่น ด้วยเชื่อว่าข้อมูลนั้นจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
- สร้างความผูกพัน
งานศึกษาด้านจิตวิทยาสังคมในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า ความสุขที่แท้จริงของการเขียนสเตตัสไม่ใช่การเล่ากิจกรรม แต่เป็นการได้เห็นคอมเมนต์ที่ถูกใจ หรือเห็นด้วยกับเราเพราะมนุษย์ยังคงต้องการผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเสมอ
- ส่งต่อความช่วยเหลือ
นอกจากจะสื่อสารถึงตัวเองแล้ว เรายังชอบส่งต่อความช่วยเหลือหรือแชร์ข้อมูลที่คิดว่าคนอื่นอ่านแล้วจะได้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะได้กลับมา เพราะโดยหลักจิตวิทยาแล้วความรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นทำให้เรามีความสุขขึ้น
- สื่อสารตัวตน
เมื่อนักจิตวิทยาค้นจนถึงส่วนลึกที่สุดของความต้องการพบว่า เราสื่อสารเพื่อสร้างตัวตนของเราผ่านการรับรู้ของผู้อื่น
เหตุผลเหล่านี้ทำให้ผู้คนในระดับปัจเจกพึงพอใจกับการท่องอยู่ในโลกออนไลน์ในเวลาที่นานขึ้น แต่ความพอใจในระดับบุคคลนั้นจะเติบโตและให้ประโยชน์ในระดับสังคมได้หรือไม่ เรามีคำตอบค่ะ

สื่อสารอย่างสุขใจ เปลี่ยนโลกได้
หากยึดตามงานวิจัยของ นิโคลัส เอ. คริสตากีสนักสังคมวิทยาการแพทย์แห่งวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด และทีมวิจัย ที่ตีพิมพ์ลงใน British Medical Journal (BMJ) วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ จากการศึกษาคนจำนวน 4,700 คน นานกว่า 20 ปี ได้ข้อสรุปว่า คนเปี่ยมสุขปรารถนาดี และคิดบวก จะส่งต่อความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ให้คนใกล้ตัวมีความสุขไปด้วยได้ ในโลกออนไลน์ก็ทำได้แล้วเช่นกัน
ขอยกตัวอย่างการทำงานของกลุ่มพันธมิตรโรคซึมเศร้า(Depress Alliance : DA) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคซึมเศร้าในอังกฤษเมื่อกว่า 40 ปีก่อน และร่วมทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับดีพอควร จนเมื่อปีพ.ศ. 2556 ทางกลุ่มได้เปิดตัวโครงการออนไลน์ชื่อ Friends in Need หรือเพื่อนในยามต้องการ เป็นการสัมมนาให้ความรู้แบบออนไลน์ให้แก่ผู้ที่สนใจโรคนี้ทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างกลุ่มสนับสนุนที่มีความรู้คอยดูแลคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้จริง ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 คน ที่สำคัญได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเยียวยาโรคซึมเศร้าที่แข็งแรงและได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก
ทีมงานผู้คิดไอเดียนี้เปิดเผยกับสื่อว่า วิธีคิดเพื่อสังคมเหล่านี้พัฒนาให้เติบโตขึ้นได้ เพียงแต่เราต้องสังเกตความเป็นไปของสังคมรอบตัว ผ่านบทสนทนาที่ปรากฏในชีวิตประจำวันและประเด็นทางสังคมต่างๆ เท่านั้นเอง

สุขภาพกายดีเมื่อเกมชวนคุณออกไปยืดเส้น
ดูแลใจในระดับสังคมกันแล้ว มาสุขกายสบายตัวกับการเล่นเกมที่ทำให้คุณทั้งแข็งแรงและมีเพื่อนมากขึ้นกันดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อหลายคนลังเลว่า โลกออนไลน์ที่ทำให้คุณนั่งติดเก้าอี้หรือนอนติดเตียงจะดีต่อสุขภาพได้อย่างไรอย่าลืมว่า การแชตไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไปค่ะ
ปฏิเสธกันไม่ได้กับเกมฮิตเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างเกมโปเกมอน ที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งโดยอวตารรูปแบบใหม่ในสไตล์ “โปเกมอน โก” ที่ชวนคุณลุกจากมุมห้องไปตามที่ต่างๆ เพื่อตามล่ามอนสเตอร์หลากหลายชนิดโดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเป็นสื่อ
ก่อนเกมฮิตนี้จะเปิดตัว ก็มีแอพพลิเคชั่นเกมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น ซอมบี้รัน (Zombie Run) ที่ชวนคุณฝึกวิ่งแบบสนุกขึ้นด้วยการสร้างเนื้อเรื่องชวนสยองให้คุณต้องคอยวิ่งหนีซอมบี้ไปตามที่ต่าง ๆรวมถึงแอพพลิเคชั่นสนุก ๆ สไตล์ใกล้เคียงกันอย่างไนกี้รัน (Nike + Running)
รันแทสติก (Runtastic) รันคีปเปอร์ (RunKeeper) เป็นต้น เป็นทางเลือกของกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งชอบแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลร่างกายผ่านโลกโซเชียลอีกด้วย
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาเดินยืดเส้นยืดสาย สูดอากาศ และพบปะผู้คนในลักษณะนี้ย่อมดีต่อสุขภาพมากกว่านั่งเล่นเกมที่บ้านมาก
นายแพทย์กรกฎ พานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล คอลัมนิสต์
คนดังก็เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคอลัมน์ Activ Guru ของนิตยสาร ชีวจิตว่า หลายคนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดสมอง มีภาวะความดันโลหิตสูง ป่วยด้วยโรคเบาหวานและมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เหมาะเหลือเกินกับการเล่นเกมในลักษณะนี้…แต่อย่างที่บอก ต้องเล่นอย่างมีสติและมีความระมัดระวัง

ใช้สื่อปลอดภัย ทำได้ไม่ยาก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำไว้ โดยสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ค่ะ
- มีสติในการสื่อสารเพราะสติสามารถควบคุมความคิดได้เป็นอย่างดี
- สื่อสารอย่างครบความเพื่อป้องกันการตีความผิด ๆ ทำให้เข้าใจไขว้เขวไม่สบายใจ หรือโกรธได้
- ช่วงเวลาที่รู้สึกมีอารมณ์ลบเช่น เกลียดชัง โกรธเคืองควรหลีกเลี่ยงการสื่อสาร
- เลือกแชร์สิ่งที่สร้างสรรค์หรือแบ่งปันสิ่งที่มีประโยชน์ในเชิงบวก ไม่ส่งผลร้ายต่อผู้อื่น
อย่างที่บอกกันเสมอ สังคมออนไลน์มีหลายด้านให้เลือกมองหวังว่าทุกคนจะเลือกอย่างมีสติ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจนะคะ
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 433 (16 ตุลาคม 2559)
บทความน่าสนใจอื่นๆ