อาการฉี่ผิดปกติ โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

5 วิธีแก้ อาการฉี่ผิดปกติ จากโรคสมอง

วิธีแก้ อาการฉี่ผิดปกติ จากโรคสมอง

อาการฉี่ผิดปกติ จากโรคสมอง โดยธรรมชาติการทำงานของร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง มักเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ตามมาด้วย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ความรุนแรงของอาการของสมอง กูรูต้นตำรับชีวจิต (อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง) ยกเรื่องอาการฉี่ผิดปกติที่เกิดจากโรคสมองมาบอกเล่า ซึ่งสามารถประยุกต์หลายวิธีการแก้ไขไปใช้กับอาการฉี่ไม่ปกติที่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น และคุณผู้อ่านกำลังเป็นอยู่

“โรคสมอง” หมายความว่า โรคต่างๆ เกี่ยวแก่สมอง ซึ่งมีหลายโรคเหลือเกิน โดยโรคเหล่านี้จะมีอาการเกี่ยวข้องกับ “อาการฉี่ผิดปกติ” อยู่ด้วยเสมอ

ขอยก ตัวอย่างโรคเกี่ยวแก่สมอง ซึ่งเราค่อนข้างจะได้ยินบ่อยและรู้จักกันดีอย่าง เช่น โรคเส้นโลหิตในสมองแตกหรืออุดตัน ซึ่งจะเรียกกันเป็นภาษาสามัญทางการแพทย์ว่า Strokes ของไทยเราคงจะเรียกกันว่า โรคอัมพาต หรือถ้ามีอาการอย่างเบาๆ จะเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ 

โรคนี้ความผิดปกติเริ่มขึ้นที่สมองก่อน คือ เส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองใหญ่ (Cerebrum) เกิดอุดตันหรือแตก หรืออาจจะเป็นสมองส่วนอื่นๆ ก็ได้ อย่างเช่นสมองส่วนกลาง เมื่อเส้นเลือดแตก เลือดที่ไหลออกมาจะไปคั่งอยู่ในสมอง สมองส่วนอื่นๆ จึงทำงานไม่ได้ หรือถ้าเส้นเลือดอุดตัน เซลล์สมองส่วนที่ไม่ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงก็จะตาย เมื่อสมองส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ทำงานร่างกายที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนนั้นก็จะชาหรือพิการ เกิดอาการพิการไปครึ่งซีกหรือทั้งหมดของร่างกายได้ ที่น่าสังเกตคือ สมองใหญ่ 2 ซีกนั้นทำหน้าที่ควบคุมร่างกายแยกกันเป็นซีกตรงกันข้าม คือ ซีกซ้ายจะคุมร่างกายด้านขวา และซีกขวาจะควบคุมร่างกายด้านซ้าย ฉะนั้นถ้าใครมีอาการเส้นโลหิตแตกหรืออุดตันในสมองซีกซ้าย ร่างกายด้านขวาจะเป็นอัมพาต หรือเป็นที่สมองด้านขวา ร่างกายด้านซ้ายก็จะเป็นอัมพาตกลับกันอย่างนี้

นอกจากนี้ยังมีโรคของสมองอีกหลายโรคที่มีผลกระทบต่อร่างกายบางซีกบางส่วน หรืออาจกระทบร่างกายทั้งตัวก็ได้เช่นกัน อย่างโรคพาร์กินสันที่ทำให้มีอาการสั่นเฉพาะบางส่วนของร่างกายหรือทั้งตัว โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู ที่ทำให้มีอาการชัก เกร็ง และกระตุกโรคอัลไซเมอร์และความจำเสื่อมเพราะความชรา (Alzheimer’s Disease และSenile Dementia) และยังมีโรคเกี่ยวแก่สมองอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ที่อยากจะสรุปในตอนนี้คือว่า โรคเกี่ยวแก่สมองต่างๆ เหล่านี้จะมีอาการปัสสาวะผิดปกติร่วมอยู่ด้วยเสมอสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือว่า อาการฉี่ผิดปกติจากโรคสมองนี้ผิดกับอาการฉี่ผิดปกติจากโรคที่ไม่เกี่ยวแก่สมอง

ผิดกันอยู่ตรงที่ว่า การฉี่ผิดปกติของโรคที่ไม่เกี่ยวแก่สมองนี้ ส่วนมากเราพอจะบังคับไม่ให้ฉี่ราดได้ อย่างเช่น โรคเบาหวานหรือต่อมลูกหมากอักเสบนั้นต้องฉี่บ่อยๆ ก็จริง และบางครั้งปวดฉี่จนหน้าเขียวก็จริง แต่ยังพอบังคับหรือกลั้นไว้ได้หน่อยหนึ่ง ถ่วงเวลาจนกระทั่งวิ่งไปถึงห้องน้ำได้ (แม้กระทั่งถึงห้องน้ำแล้วมีคนยืนฉี่อยู่ก่อน ก็พอมีโอกาสทำหน้ากระมิดกระเมี้ยนยืนกลั้นรออยู่ได้อีกสักครู่)

แต่การฉี่ผิดปกติเพราะโรคเกี่ยวแก่สมองนั้นจะทำให้กลั้นไม่อยู่ ส่วนมากมักจะฉี่ราด หรือบางทีไม่รู้ตัวว่าปวดฉี่ด้วยซ้ำอยู่ดีๆ ปัสสาวะก็ราดออกมาเฉยๆ

อาการฉี่ผิดปกติ โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
อาการฉี่ผิดปกติ โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

 

ฉี่ราดเฉยๆ โดยไม่รู้ตัวเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล ใครที่ไม่เคยต้องดูแลผู้ป่วยโรคสมองเหล่านี้คงจะไม่เข้าใจหรอกว่า การดูแลการขับถ่ายของผู้ป่วย ซึ่งรวมทั้งการปัสสาวะผิดปกติอยู่ด้วยนี้ เป็นเรื่องน่าสงสารและเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแล หรือผู้พยาบาลเพียงใด

เพราะฉะนั้น บทความตอนนี้ จึงมุ่งที่จะช่วยบรรเทาความทรมานของผู้ป่วย และบรรเทาความอดทนอย่างหนักหนาสาหัสสำหรับผู้พยาบาลและผู้ดูแลเสียก่อน

แต่อย่าลืมนะครับว่า การบรรเทาหรือบำบัดนี้ไม่ใช่การรักษา การจะแก้อาการต่างๆ ให้หายโดยเด็ดขาดต้องแก้ตัวโรคซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการให้ได้เสียก่อน แล้วอาการต่างๆ ก็จะหายไปเอง

ขออธิบายเรื่องกายวิภาคของสมองสักนิดหนึ่ง สมองคือกองบัญชาการใหญ่ของร่างกาย การจะเคลื่อนไหวส่วนใดของร่างกายต้องเริ่มที่สมองก่อน แล้วสมองจะสั่งมาที่กระดูกสันหลังกระดูกสันหลัง จะสั่งการไปที่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายให้เคลื่อนไหวได้

ในขณะเดียวกัน สมองที่ควบคุมความรู้สึกปวด และการสั่งการให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการฉี่ทำงาน จะอยู่บริเวณส่วนหนึ่งของสมองส่วนกลาง ซึ่งเรียกว่า Hypothalamic Region

ถ้าสมองส่วนนี้ถูกกดหรือไม่ทำงาน กระบวนการฉี่จะเสียไปหมด ขอยกตัวอย่างของผู้ป่วยอัมพาต ถ้าเป็นรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ พูดไม่ได้ ระบบต่างๆ ของร่างกายเรรวนหมดอย่างนี้ เรียกว่าอาการหนักมาก

ในกรณีนี้ เรื่องการฉี่คงจัดการอะไรไม่ได้ ต้องใส่ท่อสวนกระเพาะปัสสาวะและปล่อยให้ปัสสาวะไหลลงถุงตลอดเวลา

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยผิดปกติ >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.