ปวดหัว ปวดหัวไมเกรน ไมเกรน

ไมเกรนเกิดจาก อะไร ไขข้อข้องใจพร้อมแก้ไขให้ตรงจุด

วิธีลดปวดไมเกรน

เปลี่ยนรูปแบบการตื่น – การนอน

คุณพอลลา  ฟอร์ด-มาร์ติน (Paula Ford-Martin)  นักเขียนแนวสุขภาพ  แนะนำไว้ในหนังสือ The Everything Health Guide to Migraines ว่า  การนอนหลับมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคไมเกรน  โดยพบว่า  การงีบพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆและการนอนหลับสนิทในช่วงเวลากลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงโดยไม่ถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกก็ช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้

ดังนั้นถ้าอาการไมเกรนกำเริบจากการนอนไม่ถูกต้อง  จึงควรแก้ไขโดยการปรับตารางการเข้านอนและการตื่นนอนเสียใหม่  ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกวัน  ก็จะช่วยลดการเกิดไมเกรนได้

โดยสามารถปรับเปลี่ยนเวลาตื่นและเข้านอนได้ดังต่อไปนี้

1.เข้านอนก่อนเวลา 23.00 น.
2.ตื่นนอนเวลา 6.00 น.
3.กินอาหารเช้าเวลา 7.00 น.

อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้านอนดึก  ไม่ควรเข้านอนหลังจากเวลา 1.00 น.ไปแล้ว  และไม่ควรตื่นสายจนถึงเวลาบ่าย
เพราะจะทำให้อาการปวดไมเกรนกำเริบได้

และสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เสมอคือ  อาหารเช้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ไม่ควรกินหลังเวลา 10.00 น.เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ  ส่งผลให้อาการปวดไมเกรนกำเริบได้เช่นกัน

ว่ายน้ำ

ออกกำลังกายลดเครียด

คุณพอลลาอธิบายว่าความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญมากที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ  มีรายงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับโรคไมเกรน  โดยความเครียดจะส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป  จึงเป็นสาเหตุของอาการไมเกรน

นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยบางเรื่องพบว่า  ผู้ที่มีความเครียดมากๆ  ร้องไห้เยอะ  หรือมีความกังวลสูง  ร้อยทั้งร้อยจะต้องถูกอาการปวดไมเกรนเล่นงาน

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ  ต้องลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด  ทำให้ร่างกายผ่อนคลายลงสำหรับวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยลดความเครียดได้คือ
การออกกำลังกายประเภทแอโรบิก  ระดับความหนักปานกลาง  เช่น  จ๊อกกิ้ง  เดิน  ว่ายน้ำปั่นจักรยาน  โยคะ  ไทชิ  เพราะขณะที่เราออกกำลังกายนั้น  ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา  ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติในร่างกายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชฌฆาตความปวดโดยจะเข้าไปช่วยจัดการและรักษาอาการปวดไมเกรนได้

วิตามินและอาหารเสริม

คุณพอลลาแนะนำวิตามินและอาหารเสริมที่ช่วยรักษาอาการปวดไมเกรนไว้ดังนี้

1.วิตามินบี2 ช่วยในการสร้างเซลล์ของหลอดเลือด  พบในนม  ไข่  ผักสีเขียวเข้ม  ซีเรียลต่างๆ

2.วิตามินบี3 ลดการหดตัวของหลอดเลือด  พบในบรอกโคลี  มะเขือเทศ  เห็ด  มันฝรั่ง  แครอต  อัลมอนด์

3.แมกนีเซียม รักษาระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย  พบในอัลมอนด์  ถั่วลิสง  เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวสาลี

4.โคเอนไซม์คิว 10  เป็นสารแอนติออกซิแดนต์  ช่วยในการทำงานของเซลล์  พบในปลาทะเลน้ำลึก  ปลาแซลมอน  ปลาซาร์ดีน  ปลาแมกเคอเรล  ปลาทูน่า  ถั่วลิสง  น้ำมันถั่วเหลือง

5.ดอกฟีเวอร์ฟิว (Feverfew)  ยับยั้งการขยายตัวของหลอดเลือดเล็กๆในสมอง

6.ผักบัตเตอร์เบอร์(Butterbur)  ต้านการอักเสบและต้านฮิสตามีน  ซึ่งเป็นต้นเหตุของการปวดไมเกรน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คู่มือเช็ก + แก้ไมเกรน โรคฮิตคนทำงาน

เยียวยาไมเกรน แบบแพทย์แผนจีน

16 วิธี หยุดปวด ไมเกรน กล้ามเนื้อหลัง และข้อ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.