ข้อสรุปที่สำคัญเกี่ยวกับภาษารัก
1. ความเข้าใจภาษารักว่ามีอย่างน้อย 5 แบบ จะช่วยให้หลายคู่สัมผัสความรักของอีกฝ่ายได้มากขึ้น หายสงสัยว่าเขารักเราหรือเปล่า รวมถึงตัวเราเองที่ควรส่งภาษารักให้พอดีกับคู่ของเรา ไม่มากไม่น้อยเกินไปค่ะ
2. ภาษารักไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะกับคู่รักเท่านั้นนะคะ กับคุณพ่อ คุณแม่ลูก ๆ พี่น้อง และเพื่อน ๆ ก็ใช้ได้
3. การสื่อภาษารักที่เหมาะสมและเข้าใจภาษารักของอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้อย่างมากค่ะ
4. ภาษารัก 5 แบบไม่ใช่สูตรสำเร็จ ว่าหากทำทั้ง 5 ข้อแล้วชีวิตรักของคุณจะดีขึ้น (ถ้าปราศจากความจริงใจ)
5. ภาษารักจะทรงพลังและมีคุณค่าที่สุดเมื่อทำด้วยใจ ทำด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อกันนะคะ
เข้าใจ “ภาษารัก” ของเธอ ของฉัน ความสัมพันธ์ย่อมแน่นแฟ้นค่ะ ส่วนที่มาของปัญหาความสัมพันธ์สำหรับคู่แต่งงานคู่นี้เกิดจากความไม่เข้าใจภาษารักของกันและกัน ดังนี้ค่ะ
หญิงสาว : ภาษารักของเธอคือ คำพูด (Word of Affirmation, Appreciation)
ชายหนุ่ม : ภาษารักของเขาคือ การดูแล (Acts of Service)
หญิงสาวน้อยใจสามีมาโดยตลอด เพราะมองว่า แต่งงานกันมา 2 ปีแต่สามีไม่เคยรักตน เพราะเขาไม่เคยพูดคำว่ารักเลย เวลาถามว่า รักเธอไหม สามีจะไม่ตอบหรือเฉยๆ ไป ไม่เคยพูดคำดีๆ หวานๆ ให้กัน และไม่เคยชื่นชมอะไรในตัวเธอเลย บางครั้งเวลาที่ทำผิดไปบ้างกลับโดนสามีเอ็ดอยู่บ่อยๆ ทำให้เธอรู้สึกเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจกับคำพูดของสามี
ขณะที่ทางฝ่ายสามีนั้นจริงๆ รักภรรยามาก แต่เป็นคนไม่ชอบพูดมีบุคลิกแข็งๆ พูดชมใครไม่เป็น พูดจาหวาน ๆ อ่อนโยนไม่เป็น และมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ คำพูดมันตื้นเขิน และจะโกหกอย่างไรก็ได้
ดังนั้นเขาจึงแสดงความรักด้วยการดูแลภรรยาในเรื่องต่างๆ เช่น การไปรับ – ไปส่ง เวลาภรรยาไปไหนจะขับรถให้เสมอ เวลาเห็นภรรยาไม่สบายจะดูแลเรื่องอาหารการกินและพาไปหาหมอ เป็นต้น แต่ไม่เคยพูดจาให้กำลังใจเลย เพราะมองว่าไม่จำเป็น มองว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
และด้วยความห่วงใยภรรยา บางครั้งจึงเอ็ดภรรยาเวลาที่เธอทำผิดด้วยเจตนาที่ดีและห่วงใยว่าไม่อยากให้เธอทำผิดอีก แต่ ณ จุดนี้กลับทำให้ภรรยาน้อยใจอยู่เรื่อยๆ และเข้าใจว่าที่สามีทำดีด้วยการดูแลตนมาตลอดเพราะทำไปตามหน้าที่ของสามีที่ดีเท่านั้น ภรรยาจึงไม่สามารถสัมผัสความรักจากสามีได้เลย
ซึ่งคู่นี้เป็นหนึ่งในอีกๆ หลายคู่ที่มีภาษารักไม่ตรงกันทำให้หมางใจกันในที่สุดค่ะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านจิตใจความสัมพันธ์ และโรคทางจิตเวช
ข้อมูลจาก คอลัมน์ MIND UPDATE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 468
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เคล็ดลับเอาชนะ แผลใจวัยเด็ก หยุดเครียด หยุดกังวล
12 ประโยชน์ของความรู้สึกยินดี แก้ เหงา ว้าเหว่ ได้
3 ขั้นตอนเพื่อ เข้าใจลูก ลดความเครียดของพ่อแม่