ยาไมเกรน กินผิด อันตรายมาก
ในปัจจุบันคนรอบตัวเป็นไมเกรนกันเยอะ โรคนี้เป็นแล้วรบกวนชีวิตประจำวันค่ะ ส่วนยารักษาอาการก็ค่อนข้างแรงและมีผลข้างเคียง วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ ยาไมเกรน จาก เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
อาการปวดไมเกรน
เมื่อเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว หลายๆ ท่านเข้าใจว่าเป็นโรคปวดไมเกรน เพราะเราเคยเรียกโรคปวดไมเกรนกันว่า โรคปวดศีรษะข้างเดียว จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียวแสดงว่าเป็นไมเกรน
แท้จริงอาการปวดไมเกรนนั้นไม่จำเป็นต้องปวดศีรษะเพียงข้างเดียว อาจปวดสองข้างก็ได้ ในทางกลับกัน อาการปวดศีรษะข้างเดียวอาจไม่ใช่ไมเกรนก็ได้
อาการของโรคไมเกรนเป็นผลจากการขยายและหดของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะ โดยมักมีอาการนำ (aura) ก่อนอาการปวด แต่อาจไม่มีอาการนำก็ได้ อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เกิดตาพร่า เห็นภาพ หรือ แสงสีผิดปกติ อาการนำอื่นๆ คือ รู้สึกหนักที่แขนขาเหมือนไม่มีแรง มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา หรือแสบร้อน อาการนำจะเกิดนานประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นไม่นานจะเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งจะปวดเป็นพักๆ ปวดตุบๆ ข้างเดียว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงนี้จะอยู่นาน 2-3 ชั่วโมง จากนั้นอาการจะทุเลาลง แล้วเกิดอาการปวดขึ้นใหม่ได้ ผู้ป่วยไมเกรนประเภทที่ไม่มีอาการนำ อาจเกิดอาการอื่นแทน เช่น รู้สึกไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หิวอาหารและน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนนานหลายๆ ชั่วโมงกว่าจะมีอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยไมเกรนมักจะทราบเองว่าปัจจัยใดที่ทำให้อาการไมเกรนของตนกำเริบ เช่น อดนอน เครียด รับประทานอาหารประเภท ถั่ว เนย ช็อกโกแลต ชีส ไวน์แดง ชา กาแฟ สตรีช่วงมีประจำเดือน การได้ยินเสียงดัง ได้กลิ่นฉุน แสงจ้า เป็นต้น
อาการปวดหัวอื่นๆ
นอกจากโรคไมเกรนแล้ว โรคปวดศีรษะยังมีอีกหลายประเภท เช่น โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด (tension headache) โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headache) และ โรคปวดศีรษะเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูง(increase intracranial pressure) เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดการปวดศีรษะเพียงข้างเดียวได้
มีโรคปวดศีรษะอีกประเภทหนึ่งที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นไมเกรน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีความกังวลและเครียดตลอดเวลา ต้องทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและแขนเกิดการเกร็งตึง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตึงบริเวณท้ายทอย ร้าวขึ้นไปที่ขมับข้างที่มีการตึงของกล้ามเนื้อ หรือเกิดอาการปวดรอบศีรษะคล้ายถูกรัด ซึ่งถ้ามีอาการไม่มาก เมื่อพัก นวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งและตึง อาการจะหายไปเอง แต่ในรายที่มีอาการหนักอาจปวดต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียดจะไม่เกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า หรือเห็นแสงสี
โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ก็มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวได้เช่นกัน แต่จะปวดรุนแรง ปวดบ่อย มักปวดรอบตาและขมับ มีตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูกในด้านเดียวกัน จะไม่มีคลื่นใส้อาเจียน ส่วนโรคปวดศีรษะที่เกิดเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูงนั้น เกิดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง เช่น มีเนื้องงอกในสมอง เลือดออกในสมอง น้ำคั่งในสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องแก้ไขที่สาเหตุ
การใช้ยาแก้ปวดไมเกรน
ยาที่ใช้ในโรคปวดศีรษะไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน (abortive drugs)และยาที่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (preventive drugs) ซึ่งยาที่พบว่ามีการใช้บ่อยและมีข้อควรระวังในการใช้ยาค่อนข้างมาก คือ ยา ergotamine ซึ่งเป็นยาประเภทที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน
Ergotamine คืออะไร
Ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ชนิด 1B และ 1D (5-HT1B และ 5-HT1D) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลงและทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด นอกจากนี้ ergotamine ยังสามารถกระตุ้นตัวรับอื่นๆ ได้ ได้แก่ α-1 และ dopamine-2 (D2) ซึ่งการกระตุ้นตัวรับเหล่านี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ergotamine (รายละเอียดจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine )
ในประเทศไทยยา ergotamine มีชื่อทางการค้า เช่น Cafergot®, Avamigran® Tofago® หรือ Poligot-CF® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมอยู่กับ caffeine 100 มิลลิกร้ม ส่วน Ergosia®จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
การใช้ยา ergotamine ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
การใช้ยา ergotamine สำหรับรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนจะต้องใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด ขนาดการรับประทานยาที่เหมาะสม คือ รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ เนื่องจากหากรับประทาน ergotamine ในปริมาณที่มากกว่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งมีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าเดิมได้
ใช้ยา ergotamine อย่างผิดวิธีส่งผลเสียอย่างไร
Ergotamine เป็นยาที่ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะกำเริบเท่านั้น แต่ผู้ป่วยบางรายกลับรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาอย่างผิดวิธีที่อาจส่งผลเสียรุนแรงต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ การรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันนั้น หลอดเลือดแดงที่ผิดปกติจะถูกยา ergotamine ทำให้หดตัวอยู่ตลอดเวลาซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเลย แต่เมื่อใดที่หยุดรับประทานยาหลอดเลือดดังกล่าวจะขยายตัวอย่างมากและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (rebound headache )
ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine
ผู้ป่วยที่รับประทานยา ergotamine อาจมีอาการดังต่อไปนี้
คลื่นไส้ อาเจียน:เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับ ชนิด D2 (D2-receptor) ซึ่งถ้าอาการรุนแรงสามารถแก้ไขได้โดยการรับประทานยาต้านอาเจียนกลุ่ม D2-receptor antagonist คือ domperidone
ความดันโลหิตสูงขึ้น: เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับชนิด α1 (α1-receptor) ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว
ปลายมือ-เท้าเย็น หรือ ชา(numbness):เป็นผลจากการกระตุ้น α1-receptorเช่นกัน หากมีอาการรุนแรงร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ ขา หรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป
ใจสั่น เจ็บหน้าอก: เป็นผลมาจากการกระตุ้นตัวรับ 5-HT1B ที่บริเวณหลอดเลือด coronary ที่หัวใจ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
– ปฏิกิริยากับยาอื่นๆหรือ ยาตีกัน (drug interaction): ยา ergotamine ถูกทำลายโดยใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 ชนิด 3A4 (CYP 3A4) ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทานร่วมกับยาที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เช่น azithromycin, clarithromycin, ketoconazole, ritonavir หรือ verapamil เป็นต้น เนื่องจากการรับประทานยาร่วมกันจะส่งผลทำให้ระดับยา ergotamine ในกระแสเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง หรือความเป็นพิษจากยาเพิ่มขึ้นได้ และเพื่อป้องกันการเกิด drug interaction ดังกล่าว ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ายาที่ตนเองรับประทานอยู่มีอะไรบ้าง
ข้อห้ามใช้ของยา ergotamine
ผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยา ergotamine ได้แก่
– ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ergotamine หรือสารที่เป็นอนุพันธ์ของ ergot alkaloid
– ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease)
– ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับ และไต
– ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)
– ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้
– ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
– ผู้หญิงตั้งครรภ์ (ทุกไตรมาส)
Ergotamineเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพดี แต่มีข้อควระวังและข้อห้ามใช้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การรับประทานยาอย่างถูกต้อง และ การเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นหนทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา ergotamine ได้ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล และ รศ.ภญ.สมใจ นครชัย)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาหารกระตุ้นไมเกรน เสี่ยงปวดหัวเพิ่มขึ้น ที่คนเป็นไมเกรนควรระมัดระวัง