ออกกำลังกาย

HEALTH CHECK UP เช็กร่างกาย ควรออกกำลังกายไหม

ตรวจเช็กร่างกาย ควรออกกำลังกายไหม

หลายท่านอยากออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก แต่ไปวิ่งแล้วใจสั่น เหนื่อยแทบขาดใจ พอหยุดวิ่งก็มีอาการหน้ามืด อ่อนเปลี้ยเพลียแรงอยู่หลายวัน นพ.กรกฎ พานิช มีแบบทดสอบการประเมินร่างกายเบื้องต้นก่อนออกกำลังกาย ว่า ควรออกกำลังกายไหม เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บและเป็นอันตรายจากการออกกำลังกายดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  สำรวจตัวเองว่าท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่

  1. จุกแน่น หนัก หน้าอก ร่วมกับมีอาการร้าวไปที่ต้นคอ กราม แขน ขณะออกแรง เช่น ขึ้นบันได ยกของ เบ่งอุจจาระ หรือขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งขณะที่ไม่ได้ออกแรง
  2. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หอบ หายใจลำบาก ขณะที่ไม่ได้ออกแรง หรือแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย
  3. เวียนศีรษะ หรือวูบหมดสติ
  4. นอนราบแล้วเหนื่อย ต้องใช้วิธีนั่งหลับ นอกจากนี้ขาและข้อเท้าทั้งสองข้างบวมน้ำ
  5. รู้สึกหัวใจเต้นแรง เร็ว ผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
  6. ปวดร้าวหรือเป็นตะคริวที่น่องเวลาเดิน แม้ระยะทางสั้นๆ

หากท่านมีอาการหนึ่งอาการใดใน 6 ข้อที่กล่าวมาแล้ว  ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหาสาเหตุของอาการก่อนออกกำลังกาย หรือก่อนกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง หากท่านหยุดออกกำลังกายไปสักระยะหนึ่งแล้ว หากไม่มีอาการใดๆใน 6 ข้อข้างต้น ให้ตอบคำถามขั้นตอนที่ 2 ต่อไป

เสื้อผ้าออกกำลังกาย, วิธีเลือกเสื้อผ้าออกกําลังกาย, ออกกำลังกาย, ชุดออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายไหม

ขั้นตอนที่ 2 สำรวจความฟิตของร่างกายท่าน ณ ปัจจุบัน

ท่านได้ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆที่ทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยระดับปานกลาง (Moderate Intensity Exercise) ร่วมกับการนับอัตราการเต้นของหัวใจ โดยอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 40 – 60 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด คำนวณโดยสูตร 220 –อายุ เช่น อายุ 40 ปี จะเท่ากับ 220 – 40 = 180 ครั้ง /นาที)

ดังนั้น 40-60 เปอร์เซ็นต์= 72 – 108 ครั้ง/นาที ด้วยความเหนื่อยดังกล่าว ท่านได้ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วันในช่วง 3 เดือนนี้หรือไม่

[]ใช่     []ไม่

ขั้นตอนที่ 3 สำรวจระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด ว่าท่านมีหรือ เคยมีภาวะเหล่านี้หรือไม่

  1. ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  2. ผ่าตัดหัวใจ สวนหลอดเลือดหัวใจ หรือขยายหลอดเลือดหัวใจ
  3. ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  4. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
  5. ภาวะหัวใจล้มเหลว
  6. ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
  7. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  8. โรคเบาหวาน
  9. โรคไต

การประเมินในขั้นตอนที่2 และขั้นตอนที่3

  1. ตอบ ใช่ ในขั้นตอนที่ 2 และไม่มีภาวะใดๆในขั้นตอนที่ 3 ท่านสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรมีการวอร์มอัพและคูลดาวน์เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง
  2. ตอบ ใช่ ในขั้นตอนที่ 2 และมีภาวะใดๆในขั้นตอนที่ 3 ท่านสามารถออกกำลังกายได้ในระดับเบาถึงระดับปานกลาง (Light to Moderate Intensity Exercise ประมาณ 30 – 60 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด) หากท่านต้องการออกกำลังกายหนักกว่านี้(High Intensity Exercise) ควรพบแพทย์ก่อน
  3. ตอบ ไม่ ในขั้นตอนที่ 2 และมีภาวะใดๆในขั้นตอนที่ 3 ควรพบแพทย์ก่อน

ที่กล่าวมาคือกระบวนการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย ในกรณีที่ท่านจำเป็นต้องไปพบแพทย์ หลังจากพบแพทย์แล้ว หากจะออกกำลังกายควรเริ่มต้นในระดับเบา ประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด แล้วค่อยปรับความหนักขึ้นตามสภาพร่างกาย


 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.