อาการกระดูกพรุน “ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม”
จากสถานการณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2574
อาการกระดูกพรุน ภัยเงียบที่เราไม่ควรมองข้าม
ศาสตราจารย์ พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวในงานกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “ภัยจากโรคกระดูกพรุน” จัดโดยชมรมรักษ์กระดูก ภายใต้มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บ.แอมเจน ประเทศไทย ว่า
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจกับเรื่องกระดูกหักในผู้สูงวัยจากโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (ผู้สูงวัยคือผู้ที่มีอายุ ≥ 60 ปี) โดยในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรเด็ก คือ มีผู้สูงวัย 18% เด็ก 15.9% และในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงวัย มากกว่า 20% และในปี 2574 จะมีอัตราส่วนของผู้สูงวัย 28 % จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ”
โรคกระดูกพรุน และ อาการกระดูกพรุน ในผู้สูงวัย จึงเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งในยุโรป และอเมริกา มีผู้หญิง สูงวัย มากกว่า 7 แสนรายประสบปัญหากระดูกสะโพกหัก มีอัตราการตายประมาณ 20-25 % ในปีแรก ในขณะที่คนไข้ มากกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ และประมาณ 1 ใน 5 ต้องนอนบนเตียงตลอดไป ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักทั่วโลกในปี พ.ศ.2593 คาดการณ์จะมีจำนวนประมาณ 6.25 ล้านราย และในเอเชีย มีประมาณ 3.25 ล้านราย
สำหรับในประเทศไทยมีข้อมูลสถิติอัตราการตายภายหลังกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2541 เป็นจำนวน 289 รายต่อแสนคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 367 รายต่อแสนคนต่อปีในปี 2546 ส่วนใหญ่กระดูกสะโพกหักเกิดจากล้มจากการยืนระดับปกติเท่านั้น ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐสูงถึง 200,000 -300,000 ราย และต้องใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 22.7 วัน
กระดูกในร่างกายคนเรามีทั้งหมด 206 ชิ้น กระดูกสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และเติบโตได้ตามอายุ มีหน้าที่สำคัญในการเป็นแกนหลักในการยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่เคลื่อนไหวได้ และทำหน้าที่เป็นส่วนแข็งปกป้องอวัยวะภายใน รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส อันเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญหลายอย่างในร่างกาย และแคลเซียมยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กระดูกมีความแข็ง ทำให้กระดูกจำเป็นที่ต้องการแคลเซียมเพื่อการทำงานตามหน้าที่ที่ดี
ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่างของผู้หญิงอายุ 65 ปี คนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกสันหลังหักยุบ ร่วมกับมีอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคกระดูกพรุน ถ้าหากแพทย์ให้ความสนใจแค่การให้ยาระงับปวดมารับประทาน แต่ไม่ได้ดูแลรักษาเรื่องโรคกระดูกพรุน หลังจากผ่านไป 4 ปี ผู้ป่วยคนนี้ก็กลับมาหาเราด้วยกระดูกสะโพกหักเนื่องจากล้ม ซึ่งถือว่าเป็นภาวะกระดูกหักซ้ำ ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ประมาณ 20-25% ผู้ป่วยคนนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วตั้งแต่กระดูกสันหลังหักยุบ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้องตั้งแต่แรก อย่าลืมว่าการผ่าตัดดามกระดูกที่หักหรือการเปลี่ยนข้อเทียมใดๆ ไม่สามารถรักษาโรคกระดูกพรุนหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นๆได้ ในปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจว่า กระดูกพรุนเป็นเรื่องของโรคคนชรา ไม่มีทางรักษาได้ ในปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าโรคกระดูกพรุนสามารถรักษาได้ ถึงแม้จะทำให้หายขาดไปเลยไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยให้การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกัน การให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและให้ได้รับวิตามินD ที่เพียงพอ รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสม และถ้าจำเป็นเราสามารถใช้ยาบางอย่างในการช่วยเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้
อ่านเพิ่มเติม
8 สาเหตุควรรู้! ต้าน โรคกระดูกพรุน ก่อนจะสายเกินแก้
สาเหตุ อาการกระดูกพรุน
ด้าน รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ประธานชมรมรักษ์กระดูก กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันหนึ่งของโรคกระดูกพรุน คือ อายุมากขึ้น และผู้หญิงเป็นได้ง่ายกว่าผู้ชาย บางคนมีประวัติกระดูกหักมาก่อน มีประวัติการผ่าตัดที่รังไข่ การขาดประจำเดือนเป็นเวลานาน มีการใช้ยาสเตียรอยด์ บริโภคแคลเซียมน้อยกว่า 400 มิลลิกรัม และขาดการออกกำลังกาย
สำหรับแนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมียากระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ และยายับยั้งการสลายกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะมุ่งเน้นการป้องกันการเกิดโรค คือ ให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม รับแสงแดดอ่อน ๆ เป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินDที่เพียงพอ แต่ไม่ใช่ไปหาซื้อยารับประทานโดยไม่ปรึกษาแพทย์
อาหารที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสเค็มจัด และรับประทานโปรตีนมากเกินพอดี เพราะจะไปทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป
อ่านเพิ่มเติม
คู่มือเปลี่ยนชีวิต หยุด กระดูกพรุน หัก เสื่อม
เคล็ดลับกินลูกเดือย ป้องกันกระดูกพรุน มะเร็ง เบาหวาน
กระดูกพรุนในผู้สูงวัย ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรละเลย เช็กก่อนสาย เตรียมรับมือก่อนวิกฤต