ตรวจเช็คมะเร็งเต้านม แมมโมแกรม

มะเร็งเต้านม เช็คด้วยตัวเองง่าย ๆ หรือด้วยโปรแกรม Mammogram

Q & A ถาม – ตอบ ข้อสงสัยโรคมะเร็งเต้านม

หลายคนอาจจะกลัวโรคมะเร็งเต้านม หรือบ้างก็สงสัย เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ละเอียดและถูกต้อง ชีวจิตมีข้อมูลจากมูลนิธิถันยรักษ์ ศูนย์วินิจฉัยมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลศิริราช  ตรวจเช็คมะเร็งเต้านม ด้วยแมมโมแกรม มาบอกค่ะ

1 : Q :: การทำ Mammogram มีประโยชน์อย่างไร และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากมะเร็งเต้านมได้มากน้อยเพียงใด ?

A :: การทำ Screening Mammogram มีประโยชน์มาก และปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก ซึ่งมีผลการวิจัยและสถิติระบุชัดเจนว่า การพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกช่วยทำให้การรักษาได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น ในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งได้รับการรักษาและรอดชีวิตได้นั้นเป็นผลมาจากการทำ Screening  Mammogram เป็นประจำมากกว่า 30 % หรือประมาณ  15,000- 20,000 คนต่อปี และกว่า 2.6 ล้านคนใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ปัจจุบันทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปยังมีการทำ Screening Mammogram อย่างแพร่หลายเพราะประโยชน์ดั่งกล่าว

 

2 : Q :: ตรวจเช็คมะเร็งเต้านม แมมโมแกรม ( Mammogram)  เป็นประจำทุกปีเป็นการตรวจที่เกินความจำเป็นหรือไม่ ?

A :: ในสหรัฐอเมริกามีการทำ Screening Mammogram โดยแนะนำให้ผู้หญิงเริ่มทำตั้งแต่อายุ 40 ปี และทำทุก 1 – 2 ปี ที่ศูนย์ถันยรักษ์ได้แนะนำให้มีการตรรวจเป็นมาตรฐานดังนี้

– อายุ 20 ปีขึ้นไป เริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ( ในช่วงอายุนี้ไม่จำเป็นต้องทำแมมโมแกรม )

– อายุ 35 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมเป็นพื้นฐาน และควรตรวจทุก ๆ 2 ปี

– อายุ 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี

– อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก ๆ  1 – 2 ปี

** สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะต้องตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ และหากพบเจอความเสี่ยงก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ผ้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดีขณะนี้ศูนย์ถันยรักษ์ได้ทำวิจัย Sojourn time  เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการทำ Screening Mammogram สำหรับผู้หญิงไทย

 

3 : Q :: การตรวจเช็ค Mammogram ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีตอย่างไร ?

A :: การตรวจเอกซเรย์เต้านม ( Mammogram ) ปัจจุบันทำได้ดีกว่ามากหากเปรียบเทียบกับการทำแมมโมแกรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สรุปคือ

  1. เครื่องมือที่ใช้มีการพัฒนาจากเครื่อง Analog เป็น Digital ( เปรียบเทียบเหมือนการถ่ายรูปจากกล้องฟิล์มในอดีต มีการพัฒนามาเป็นกล้อง Digital ทำให้ได้ภาพที่มีความชัดเจนขึ้น ) แพทย์สามารถวินิฉัยได้ง่ายขึ้น
  2. จำนวนรังสีที่ใช้ลดน้อยลง และ มีมาตรฐานมากขึ้น
  3. เทคนิคและวิธีการถ่ายทำที่มีการพัฒนา รวมทั้งวิธีการกดไม่เจ็บเหมือนในอดีต
ตรวจเช็คมะเร็งเต้านม แมมโมแกรม
Doctor woman examining her patient breast for cancer

4 : Q :: การบีบและกดเต้านมในการทำ Mammogram เป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่

A :: การทำแมมโมแกรมจำเป็นต้องกดเต้านม เพื่อให้เนื้อเยื่อของเต้านมแผ่กระจายเวลาถ่ายแมมโมแกรมจะได้เห็นสิ่งผิดปกติได้อย่างชัดเจน  การกดทำให้รู้สึกเจ็บตอนกดเท่านั้น ทางศูนย์ถันยรักษ์ได้สอบถามผู้มาตรวจ 60,000 ราย ได้คำตอบว่า เจ็บแต่ทนได้ 98 %

 

5 : Q :: การทำแมมโมแกรมต้องใช้รังสีซึ่งอาจเป็นอนตรายและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมใช่หรือไม่ ?

A :: การใช้รังสีในการทำแมมโมแกรมนั้น ปริมาณรังสีที่ผู้มาตรวจได้รับมีน้อยมากหากเทียบกับรังสีที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา International Atomic Energy Agency ( IAEA ) ได้กำหนดปริมาณรังสีสำหรับแพทย์และนักรังสีการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้รังสีต้องไม่เกินกว่า 20 mSv  ต่อปี ขณะที่ปริมาณรังสีที่ผู้มาตรวจได้รับจากการถ่ายแมมโมแกรมสูงสุดเพียง 1.44 mSv ต่อครั้ง

เมื่อ  4 ปีที่แล้ว  Dr.Kalpana Kanal อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีและฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกาได้ทำการวิจัยเรื่องนี้  สรุปว่า “  การทำแมมโมแกรม 1,000,000 คน อาจจะพบว่ามีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพียง 6 คน และยังย้ำว่าอันตรายจากรังสีนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญและประโยชน์ของการทำแมมโมแกรม  ”

 

6 : Q :: ผู้หญิงเราควรทำอย่างไรที่จะเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านม ?

A :: เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยใดสรุปชี้ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของมะเร็งเต้านม ดังนั้น ศูนย์ถันยรักษ์ จึงให้คำแนะนำว่า ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงและให้ปฏิบัติตามแผนดูแลสุขภาพเต้านม 3 ประการ คือ

  1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ( BSE ) เมื่ออายุครบ 20 ปี ขึ้นไปเป็นประจำทุกเดือนด้วยวิธีที่ American Cancer Society แนะนำ คือ Triple Touch วัตถุประสงค์ เพื่อให้รู้จักธรรมชาติและความปกติของเต้านมตนเอง หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รีบพบแพทย์ ( ไม่ใช่คลำหาก้อน )
  2. ให้แพทย์ตรวจคลำ ( Clonical Examination ) เมื่อไปตรวจร่างกายประจำปี
  3. ตรวจเอกซเรย์เต้านม ( Screening Mammogram ) เมื่ออายุ 35 ปีเป็นพื้นฐาน ( Base line ของถันยรักษ์ที่แนะนำให้ทำ Screening Mammogram เพราะจากสถิติ 2538 – 2555 พบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อย )

อ่านประสบการณ์สุขภาพ : สาวใจสู้ รักษามะเร็งเต้านมให้หายขาด ได้ที่  https://goodlifeupdate.com/healthy-body/101440.html

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชวนทำความรู้จัก ที่มาของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

5 โรคฮิตที่ดาราเป็น ทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมคำแนะนำ

“ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบของคนอ้วน รักษาด้วยสมุนไพร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.