“หญ้าหวาน” พิชิตเบาหวานปราบอ้วน

เพราะ “ความหวาน” เป็นรสชาติที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ความหวานก็เป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยทำลายสุขภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดจึงหันมาสนใจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนสารสังเคราะห์มากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่า หญ้าหวานสมุนไพรรสชาติหวานเจี๊ยบสมดังชื่อ แถมเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ ก็กำลังกลายเป็นทางเลือกยอดฮิตของคนรักสุขภาพเช่นกัน

 หญ้าหวาน …ของดีตั้งแต่ครั้งโบราณ

หญ้าหวานจัดเป็นพืชล้มลุกระยะยาว มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก ลำต้นกลมและแข็ง มีใบเดี่ยว รูปหอก ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบให้สารที่มีรสหวาน และมีช่อดอกสีขาว โดยอาจารย์ ดร.ณัฐิรา อ่อนน้อม ฝ่ายวิทยาศาสตร์การอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงที่มาของหญ้าหวานให้ฟังว่า

หญ้าหวานเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัย ซึ่งนิยมใช้ผสมกับชาเพื่อดื่มกันมานานมากแล้ว ส่วนชาวญี่ปุ่นเองก็กินหญ้าหวานกันอย่างแพร่หลาย โดยใช้หมักเป็นผักดอง หรือทำเต้าเจี้ยว

สำหรับในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการนำหญ้าหวานมาใช้กัน เมื่อปี พ.ศ.2518 โดยนิยมนำไปตากแห้ง ชงผสมกับเครื่องดื่มแทนน้ำตาล

 หวานธรรมชาติ เปี่ยมคุณประโยชน์

รูปแบบของหญ้าหวานที่นิยมกินมี 2 แบบด้วยกันคือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับชาสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเติมรสหวาน หรือสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ ทั้งนี้อาจารย์ ดร.ณัฐิรา ได้อธิบายถึงคุณโยชน์ของหญ้าหวานว่า

ใบหญ้าหวานจะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 10-20 เท่า ส่วนสารสกัดบริสุทธิ์จากหญ้าหวาน หรือที่เรียกว่า สารสตีวิโอไซด์ (Stevioside) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200-300 เท่า โดยไม่ให้พลังงาน (0 แคลอรี) จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก แถมยังช่วยบำรุงตับอ่อน ลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงได้

นอกจากนี้สารสกัดจากหญ้าหวานยังไม่ทำให้ฟันผุ มีความทนทานต่อกรดและความร้อน เมื่อใช้ผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ต้องผ่านความร้อนสูงจึงไม่กลายเป็นสีน้ำตาล ทำให้สารสกัดจากหญ้าหวานถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ขนมเบเกอรี่ หรือแม้แต่น้ำอัดลม ลูกอม

 หญ้าหวาน ก่อมะเร็ง เป็นหมันจริงหรือ

ไม่นานมานี้แม้จะมีการรายงานว่ามีชาวปารากวัยที่กินหญ้าหวานแล้วทำให้กลายเป็นหมันหรือจำนวนอสุจิลดน้อยลงก็ตาม แต่จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเผยผลวิจัยจากต่างประเทศซึ่งพบว่า การใช้หญ้าหวานไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด เพราะหลังจากทดลองกับหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์หรือกลายเป็นหมัน

หญ้าหวานสามารถกินได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งนี้ในแต่ละวัน ไม่ควรกินเกิน 4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่อย่าลืมว่าหญ้าหวานมีรสขมเล็กน้อยดังนั้นจึงควรระวังเวลานำไปใช้อาจทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงได้

“ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยกินหญ้าหวาน อาจจะค่อยๆ เริ่มกิน เพื่อปรับตัวให้ชินกับรสชาติหวานที่มีรสขมติดปลายลิ้นด้วยเล็กน้อยค่ะอาจารย์ ดร.ณัฐิรากล่าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของเหล่านักวิจัยที่ได้ร่วมกันทบทวนผลงานวิจัยคุณประโยชน์และโทษเกี่ยวกับหญ้าหวานจัดขึ้นโดยสถาบันการแพทย์แผนไทยว่า

หญ้าหวานไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงาน นักวิชาการจึงสนใจประเด็นสารสกัดสตีวิโอไซด์ ว่ามีพิษหรือไม่ และควรกินเท่าใดจึงปลอดภัย ซึ่งได้คำตอบว่า สตีวิโอไซด์ ปลอดภัยในทุกกรณี และค่าสูงสุดกินได้ถึง 7.938 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมซึ่งถือว่ากินได้ในปริมาณที่สูงมาก เพราะในความเป็นจริง มีผู้บริโภคได้ทั่วไป แค่ 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมท่านั้นก็หวานมากเกินไปแล้ว

เรียกว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนรักสุขภาพค่ะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.