ตามไปดูความพยายามช่วยเหลือเกษตรกร จากกลุ่ม “กินช่วยเกษตรกร”
ในหลายฤดูการผลิตช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกษตรประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำต่อเนื่อง และปีที่เพิ่งผ่านมาเกษตรกรต้องประสบภัยแล้งรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่พอใช้หนี้และเมื่อต้นปีก็มีปัญหาการระบาด โควิด-19 ซึ่งดูเหมือนไม่ได้กระทบการเกษตรโดยตรงแต่เป็นที่ทราบกันว่ารายได้บางส่วนที่จุนเจือครอบครัวเกษตรกรนั้นเป็นรายได้ที่ครอบครัวช่วยกันหามาจากรายได้นอกการเกษตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ครอบครัว
เมื่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และรัฐใช้หลายมาตรการ เช่น ใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ห้ามบุคคลออกนอกบ้านบางช่วงเวลา ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน สถานประกอบการที่สุ่มเสี่ยงต่อคนมาชุมนุมจำนวนมากต้องปิดตัวลง (shut down) ห้ามเคลื่อนย้ายไปจังหวัดอื่นโดยไม่จำเป็น หลายจังหวัด lock down ตัวเอง ประชาชนต้องอยู่ห่างกันในลักษณะ social distancing และต้องการให้มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพที่สุดในการหยุดยั้งโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรงและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการระบาดของโควิด-19 นี้จะหยุดลงเมื่อไร
ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่กล่าวมา ทำให้คุณตฤณ รุจิรวณิช นักธุรกิจวัย 45 ปีที่เริ่มแรกเขาเพียง ซื้อสินค้ามากินแล้วเห็นว่าเป็นของคุณภาพดีก็ช่วยแชร์ต่อบนโซเชียลมีเดีย แต่เกิดความคิดต่อว่าถ้าหากผู้ซื้อกับผู้ขายมีพื้นที่ในการติดต่อกันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งสองฝ่าย ประกอบกับความคิดว่าไม่อยากให้พืชผลเหล่านี้ต้องกลายเป็นขยะอาหารซึ่งจะกลายสภาพเป็นก๊าซมีเทนทำลายชั้นบรรยากาศ จึงได้จัดตั้ง กลุ่ม “กินช่วยเกษตรกร” ขึ้นบนเฟซบุ๊ก โดยกลุ่มดังกล่าวได้เริ่มเปิดตัวไปเมื่อ วันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา
“ผมได้รับข้อความที่ถูกส่งต่อมาตามกลุ่มแชตต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ ขอให้ช่วยเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ที่เดือดร้อนจากการส่งออกผลผลิตไม่ได้ในภาวะโรคระบาด หลายคนอาจอ่านแล้วผ่านเลยไป แต่ผมเกิดความคิดว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้ จึงใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรกับลูกค้า
“เมื่อสร้างกลุ่มแล้วเขาก็สั่งซื้อมะม่วงมา 40-50 กก. นำไปแจกคนรู้จัก เขาเห็นมีเบอร์ติดต่อแนบมากับหีบห่อจึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อถามไถ่ถึงสภาวะที่ประสบถามว่ามีของเยอะไหม เขาตอบว่ามีเยอะ มีอยู่ 4 ล้านโลเป็นมะม่วงเกรดส่งออก ได้ยินคำตอบแล้วก็น้ำตารื้นเลย ได้แต่บอกไปว่า ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวจะช่วย ก็เลยนำข้อมูลมาแชร์ต่อในกลุ่มซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกราว 200-300 คน และได้รับผลตอบรับดีเกินคาด
“เจ้าของสวนบอกว่า วันแรกมีเข้ามา 800 ออเดอร์ จนสุดท้ายขายหมด 4 ล้านโล ได้เห็นพลังของคนที่คิดจะช่วยเหลือกันจริง ๆ” ตฤณเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เขาบอกด้วยว่าที่ขายหมดไม่ใช่เพราะกลุ่มของเขากลุ่มเดียว แต่มีช่องทางอื่นที่ช่วยเหลือกันอีก หลังจากตฤณได้พูดคุยกับเจ้าของสวนอีกหลายแห่งก็พบว่าหลายคนยังมีพืชผลที่ขายไม่ออกกันมากถึง 40-50 ตัน
“จากแรกเริ่มเพียงช่วยเจ้าของสวนขายมะม่วงที่ราคาตกจนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 20-25 บาทให้ระบายสินค้าได้ หลังสร้างกลุ่มมาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็มีเกษตรกรรายอื่นมาขายสินค้าหลายชนิด รวมทั้งอาหารแปรรูป และจำนวนสมาชิกกลุ่มก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน”
จากชีวิตปกติที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทผู้ให้บริการติดตั้งฟิล์มอาคารอนุรักษ์พลังงาน คุณตฤณใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำมาดูแลกลุ่มและยังเปิดช่องทาง ไลน์ โอเพนแชท สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เฟซบุ๊กได้ประกาศขายสินค้าอีกด้วย ซึ่งเขายอมรับว่ามันกินเวลาทั้งวันไม่ต่างจากการทำงานเต็มเวลา โดยตอนนี้มีผู้ช่วยอีก 2-3 มาช่วยดูแลด้วย
แม้ว่าทั้งหมดที่ทำไปนี้เขาจะไม่ได้อะไรเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ คือ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ช่วยเหลือคนในช่วงที่ตัวเองว่าง ซึ่งในอนาคตหากต้องเปลี่ยนธุรกิจตัวเขาเองก็จะมีความรู้ตรงนี้ไปใช้ในการทำงานได้ด้วยนั้นเอง
เรียกว่าเป็นอะไรที่น่าชื่นชมมากๆ เลยนะคะ สำหรับแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่ม “กินช่วยเกษตรกร” ของคุณตฤณ สำหรับเกษตรกร หรือใครที่สนใจสามารถเข้าไปสอบถามและติดตามรายละเอียดได้ที่ FB Page: กินช่วยเกษตรกร
ภาพประกอบจากPage: กินช่วยเกษตรกร
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ