ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สํารวจพฤติกรรม เสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สํารวจพฤตกรรม เสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อของอวัยวะใน ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ประมาณ 30-50% ของผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และผู้หญิงหลายคนโอดโอยกับปัญหาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ จึงต้องไปหาหมอกินยาเนืองๆ

สาเหตุและกลไกการเกิด

สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่สำคัญคือ แบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา โดยมีกลไกการติดเชื้อคือ แบคทีเรียดังกล่าวมีการเคลื่อนที่จากลำไส้มาปนเปื้อนบริเวณส่วนนอกของรูก้น จากนั้นเข้าสู่บริเวณช่องเปิดของท่อปัสสาวะ และเคลื่อนขึ้นไปตามท่อปัสสาวะ เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต และไต และทำให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะที่เคลื่อนไปถึง นอกจากนั้นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้ออาจมาจากกระแสเลือดในผู้ที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดนำมาก่อน หรือมาจากการติดเชื้อของอวัยวะใกล้เคียงกับระบบทางเดินปัสสาวะ

 

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ

โดยปกติร่างกายมีกลไกในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่สำคัญคือ การไหลของน้ำปัสสาวะออกสู่นอกร่างกายตามแรงโน้มถ่วงของโลกในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ ทั้งนี้การไหลออกของน้ำปัสสาวะจะช่วยขับเอาเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนออกสู่นอกร่างกาย ดังนั้นหากมีความผิดปกติใดๆ ของการไหลออกของปัสสาวะ เช่น การอั้นปัสสาวะ การมีนิ่วหรือเนื้องอกอุดตันในทางเดินปัสสาวะ การทำงานบีบตัวเพื่อขับปัสสาวะของท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติ ความผิดปกติของโครงสร้างของไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงไม่สามารถลุกขึ้นมาปัสสาวะได้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุที่ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียเคลื่อนจากบริเวณช่องเปิดของท่อปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายและเร็วกว่า ในผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ เพื่อช่วยในการปัสสาวะจะมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากระบบการไหลออกของปัสสาวะของร่างกายเสียไป และตัวสายสวนปัสสาวะเองจะเป็นที่อาศัยของแบคทีเรีย และเป็นที่เกาะสำหรับการเคลื่อนของแบคทีเรียจากภายนอกร่างกายเข้าสู่อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ บุคคลที่มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกันโรคอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

 

 ถ้าเป็นแบบนี้ นพ.แอนดรูว์ ไวล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ทางเลือกชาวอเมริกันแนะว่า ลองสำรวจดูพฤติกรรมตัวเองก่อนดีไหม มีอะไรเสี่ยงต่อการติดเชื้อบ้าง

1.หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง คุณเช็ดน้องสาวจากข้างหน้าไปข้างหลังหรือเปล่า เพราะวิธีเช็ดแบบนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากทวารหนัก

2.ใช้น้ำยาทำความสะอาดล้างช่องคลอดใช่ไหม ซึ่งต้องหยุดทันที เพราะนี่คือการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดี ที่มีหน้าที่ช่วยจับกินเชื้อโรค

3.หลังมีเพศสัมพันธ์ คุณเช็ดล้างสะอาดดีหรือไม่ มิเช่นนั้นน้องสาวของคุณจะเป็นรังเพาะเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และลามไปถึงทางเดินปัสสาวะ

4.ดื่มน้ำสะอาดเพียงพอหรือยัง เพราะน้ำจะช่วยล้างระบบขับถ่ายให้สะอาดขึ้นอีกครั้ง

 

การป้องกันการติดเชื้อ

1.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ

2.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ (วันละ 8-12 แก้ว) เพื่อให้ปัสสาวะออกในปริมาณที่เหมาะสม

3.เข้ารับการรักษาโรคที่มีผลทำให้การไหลของปัสสาวะผิดปกติ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ และการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น

4.ผู้ที่ยังคงมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ มากกว่า 2 ครั้งใน 6 เดือนหรือมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี แม้จะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปัสสาวะ และแก้ไขความผิดปกติของการไหลของปัสสาวะดังกล่าวข้างต้นแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะแบบกินเพื่อป้องกันการติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน

เรื่องแบบนี้ ทราบแล้วเปลี่ยนค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการน่ารำคาญที่ใครๆ ก็เป็นได้

CHECK IT OUT ตำแหน่งปวดท้อง บอกโรคได้

การกลั้นปัสสาวะลำบากในผู้สูงวัย หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.