หน้าฝนกินอะไร ให้ห่างโรค
สำหรับช่วงหน้าฝนที่ใครๆ ก็ป่วย แถมโรคระบาดก็กลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง แล้ว หน้าฝนกินอะไร ให้ห่างจากโรคได้ วันนี้แอดมีวิธีที่ช่วยกินแล้วป้องกันโรคหน้าฝน รวมถึงกินแล้วช่วยรักษาได้ ซึ่งแน่นอนว่าสมุนไพรไทย ต้องมีแล้ว เพราะทั้งหาง่าย แล้วยังกินอร่อย
หน้าฝนกินอะไร
ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ กินอาหารได้หลากหลายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ต้มจืด ต้มยำ ผัก และผลไม้ แต่ที่ต้องเน้นเลยจริงๆ คือการกินเพื่อ สร้างภูมิต้านทาน เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่เติบโตในช่วงหน้าฝนนี้ โดยควรเลือกกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ ให้หลากหลาย เป็นประจำสม่ำเสมอ เราก็จะไม่ขาดวิตามินต่างๆ
สำหรับวิตามินที่สามารถป้องกันหวัดได้เป็นอย่างดี ก็คือ “วิตามินซี” หรือ “กรดแอสคอร์บิก” เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย มักใช้ในการรักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด นอกจากนี้ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน
วิตามินซี กับ หวัด
มีไม่น้อยที่เข้าใจว่า “วิตามินซี” สามารถรักษาหรือป้องกันโรคหวัดได้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวัน ไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัด แต่ในผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม พบว่า การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน แต่ในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อน พอเป็นหวัดแล้วหันมาทาน จะไม่สามารถลดความรุนแรงหรือระยะเวลาการเป็นหวัดได้
แม้ว่า “วิตามินซี” ตามความเข้าใจของเรา อาจจะไม่ได้ช่วยรักษาหวัด แต่อย่างน้อยวิตามินซีก็ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ซึ่งจริงๆ แล้ววิตามินซีมีอยู่ในอาหารจำพวกผักผลไม้สดและมีมากในผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว
หน้าฝนกินอะไร ? กิน สมุนไพรแก้หวัด
ฝนตกพรำๆ สมุนไพรที่ช่วยได้ ก็คือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน และสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยที่จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีขึ้น และต้องไม่ลืมสมุนไพรที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และลดอาการอักเสบ แต่จะมีอะไรบ้างนั้นแอด คัดมาให้แล้ว 5 ตัวเป้งๆ
หอมแดง
ของดีคู่ครัวไทย ที่แค่หั่น ปอก ก็ช่วยแล้ว และถ้าได้กินด้วยจะดีมาก เพราะอุดมไปด้วยสารประกอบกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) ที่เชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจช่วยรักษาโรคหวัดได้ โดยมีสรรพคุณช่วยให้หายใจสะดวกและโล่งขึ้น
ขิง
สมุนไพรที่นึกอะไรไม่ออก จิบน้ำขิงไว้ก่อน ช่วยได้มาก ทั้งนี้มีการวิจับพบว่าในน้ำขิงมีสารจิงเกอร์รอลที่ช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ นอกจากนั้นยังยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและพยาธิได้ ดังนั้นการดื่มน้ำขิงเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสหวัด และอาการไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระเทียม
ในกระเทียมอุดมไปด้วยสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ รวมไปถึงช่วยให้ร่างกายต้านเชื้อไวรัสหวัดได้อีกด้วย
ฟ้าทะลายโจร
จากงานวิจัยพบว่า มีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตัวฟ้าทะลายโจรเองก็มีข้อบ่งชี้ในการกินว่า ควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น และไม่ควรกินต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เนื่องจากเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น
ตะไคร้
น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้มีสารที่ชื่อ ยูจีนอล ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้ลดการอักเสบที่เกิดจากหวัดได้ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และทำให้นอนหลับเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง
กินอย่างไร ให้ปลอดโรค
ไม่ใช่แค่หน้าร้อนที่ต้องระวังอาหารการกิน ช่วยหน้าฝนที่อากาศร้อนชื้น อบอ้าวเอง ก็ต้องระวังเป็นพิเศษเหมือนกัน เพราะอากาศแบบนี้เอื้อให้แบคทีเรียเจริญเติบโต จนทำให้คนล้มป่วยเอาได้ง่ายๆ ส่วนจะทำยังไง ต้องระวังเรื่องอะไรบ้างนั้น ก็ตามนี้เลยค่ะ
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่มักจะมาพร้อมกับฤดูฝน เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ปรุงอาหารด้วยความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียส สำหรับน้ำดื่ม ก็ควรต้องผ่านการต้มสุกก่อนด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับความชื้นในหน้าฝน
- ทำความสะอาดและเก็บรักษาวัตถุดิ
บให้สดใหม่ ก่อนปรุงอาหาร ควรล้างผัก ผลไม้ และวัตถุดิบทุกชนิดให้สะอาดหมดจด เก็บรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อช่วยยืดอายุและรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้นานยิ่งขึ้น การเก็บเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ควรล้างทำความสะอาดและซับให้แห้งก่อนนำเข้าตู้เย็น โดยใส่ในกล่องที่มีฝาปิดสนิทหรือถุงซิปล็อคเพื่อคงความสดใหม่ สำหรับผักสด ควรแยกประเภทของผักก่อน จากนั้นห่อด้วยกระดาษหรือพลาสติกให้มิดชิด และควรเก็บผลไม้ในถุงซิปล็อคหรือกล่องพลาสติกที่มีรูระบายอากาศเพื่อไม่ให้ผลไม้ชื้น ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ไว้ในถุงเดียวกันเพราะผลไม้สุกจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมา ทำให้ผักที่อยู่ใกล้กันเน่าเสียเร็วขึ้น - ล้างอุปกรณ์เครื่องครัวให้สะอาด อุปกรณ์ทำครัวต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก หรือที่แขวนเอาไว้ ควรล้างให้สะอาดก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันเชื้อราและเชื้อโรค สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม หลังจากทำความสะอาด ควรใช้วิธีผึ่งหรืออบให้แห้ง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดเด็ดขาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสุกที่ตั้
งทิ้งไว้นานเกินไป อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ควรอุ่นใหม่ให้ร้อนอย่างทั่วถึงก่อนนำมารับประทานอีกครั้ง ไม่ควรรับประทานอาหารปรุงสุกที่ตั้งทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงโดยไม่มีการอุ่นซ้ำ หากซื้ออาหารมาแล้วยังไม่ได้รับประทานในทันที ควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนจนเดือดก่อนนำมารับประทาน ไม่ควรเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วในตู้เย็นนานเกิน 2-3 วัน นอกจากนี้ หากลืมหรือวางอาหารเอาไว้ในที่อากาศร้อนจัด เช่น ทิ้งไว้ในรถยนต์ นานกว่า 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรนำมารับประทานอีก เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจเจริญเติบโตแล้ว
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นที่น่าสนใจ
10 วิตามินและแร่ธาตุ เยียวยา หวัดและภูมิแพ้
เป็นหวัดห้ามกิน 8 อาหารเหล่านี้
5 อาการน่าสังเกต ที่ อาการคล้ายหวัด แต่ไม่ใช่หวัด
ติดตามชีวจิตได้ที่