ไขคำตอบ! เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม สาเหตุเกิดจากอะไร?
อาการหอบเหนื่อยและเจ็บหน้าอกเป็นอาการที่พบบ่อยอาการหนึ่ง ซึ่งทุกคนคงเคยมีอาการนี้มาก่อน เช่น หลังออกกำลังกาย แต่อาการเหนื่อยแบบนั้นถือว่าเป็นอาการเหนื่อยตามปกติ แม้ว่าบางคนอาจมีอาการเหนื่อยมากในขณะที่บางคนอาจเหนื่อยน้อยกว่าเมื่อออกกำลังในขนาดเดียวกันก็ตาม
อาการเหนื่อย
คนปกติต้องหายใจ เมื่อหายใจเข้าร่างกายจะนำออกซิเจนซึ่งมีอยู่ในอากาศไปให้ร่างกายใช้และเมื่อหายใจออกเพื่อนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียที่สร้างขึ้นในร่างกายออกไป การหายใจควบคุมโดยศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง ซึ่งควบคุมให้ปริมาณการหายใจเป็นสัดส่วนกับความต้องการของออกซิเจนในร่างกาย โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับรู้ (Involuntary Breathing)
เมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ศูนย์ควบคุมการหายใจก็จะกระตุ้นให้หายใจเพิ่มขึ้นตาม เมื่อต้องการออกซิเจนน้อยลง ศูนย์ควบคุมการหายใจจะสั่งให้หายใจน้อยลง โดยไม่รู้สึกตัวว่าหายใจมากหรือหายใจน้อย แต่ตัวเองสามารถควบคุมการหายใจได้เช่นกัน เช่น ถ้าต้องการจะกลั้นหยุดหายใจหรือจะหายใจเร็วก็สามารถทำได้ (Voluntary Breathing) การหายใจต้องใช้พลังงานโดยมีกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อที่ยึดซี่โครงของทรวงอกและกระบังลมหดตัว ทำให้ทรวงอกเคลื่อนไหวเป็นตัวสำคัญ
11 สาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย
โรคหรือภาวะความเจ็บป่วยหลายชนิดอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการเหนื่อยง่ายได้ ดังนี้
- ภาวะตั้งครรภ์ เหนื่อยง่ายเป็นหนึ่งในอาการระยะแรกเริ่มของหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมามาก โดยมีอาการปรากฏร่วมกับสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
- เบาหวาน ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการหลักคืออ่อนเพลียและเหนื่อยล้า นอกจากนี้ อาจกระหายน้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เหนื่อยง่ายและสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคเบาหวานควรรับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
- การขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไร้เรี่ยวแรง เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง หากมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอจะทำให้เลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้ อาจทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น และตัวซีดร่วมด้วย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พบบ่อยในชายวัยกลางคนและผู้มีน้ำหนักตัวมาก สาเหตุเกิดจากช่องคอที่แคบกว่าปกติหรือปิดลงขณะหลับ ทำให้หายใจลำบากและรบกวนการนอน เนื่องจากร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการกระตุ้นให้ตื่นเพื่อพยายามหายใจ ซึ่งการตื่นขึ้นมาบ่อย ๆ ในตอนกลางคืนจะส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียในช่วงเวลากลางวัน นอกจากนี้ ภาวะนี้ยังอาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงและเกิดเสียงกรนรบกวนผู้อื่นขณะนอนหลับ
- ภาวะขาดไทรอยด์ อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายเป็นอีกอาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยภาวะขาดไทรอยด์หรือไฮโปไทรอยด์ โดยจะแสดงอาการอย่างช้า ๆ ทำให้ไม่อาจสังเกตได้ในทันที ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- ภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีภาวะนี้มักรู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้ามาก อาจมีอาการนอนไม่หลับ หลับยาก และตื่นเช้ากว่าปกติ รวมทั้งรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล มีแรงขับทางเพศต่ำ หรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย
- ภาวะเหนื่อยเรื้อรัง อาการเหนื่อยอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจแสดงถึงภาวะเหนื่อยเรื้อรังได้ โดยจะรู้สึกเหนื่อยแม้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ อาจมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 20 ปีต้น ๆ ถึง 40 ปีกลาง ๆ และพบในเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปี ได้เช่นกัน
- โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยหลับอย่างกะทันหัน มีอาการง่วงนอนมากเกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละวัน และอาจหลับไปทั้ง ๆ ที่กำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ โรคนี้มักพบในช่วงอายุ 10-25 ปี
- หนี้การนอน (Sleep Debt) ภาวะที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลาติดต่อกันนาน ทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไป หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน อันเป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวาน
- การติดเชื้อ เช่น โรคหวัด ผู้ป่วยมักรู้สึกเหนื่อยติดต่อกันนาน 1-2 สัปดาห์หลังจากไข้ลดลงแล้ว รวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญพลังงาน กระบวนการเผาผลาญพลังงานหรือเมตาบอลิซึมที่ต่ำกว่าปกติอาจทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า และต้องการนอนพักผ่อน อีกทั้งอาจแสดงถึงภาวะขาดไทรอยด์ ส่วนกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงกว่าปกตินั้นอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย และเป็นอาการจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่ายได้เช่นกัน ดังนี้
- การนอนดึก อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้า รู้สึกเหนื่อยง่าย การเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เช่น กาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนและรู้สึกเหนื่อย จึงควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในระหว่างวัน และไม่ควรดื่มในตอนเย็น
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและพฤติกรรม ทั้งยังอาจมีผลกระทบต่อการรักษาทางแพทย์หรือทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด
- การรับประทานยา ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงเป็นอาการเหนื่อยง่าย เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยาระงับอาการปวด
- การรักษาโรค เช่น การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา อาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า
- การรับประทานอาหารขยะ อาหารจำพวกของทอดและของหวานนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งยังประกอบด้วยไขมันและน้ำตาลสูง ทางที่ดีควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันได้อย่างกระฉับกระเฉง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
“โรคหอบหืด” รู้จัก เข้าใจอาการ และการรักษา
วิธีอย่างง่าย ดูแล+ป้องกัน โรคระบบทางเดินหายใจ (หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด)
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกล “โรคปอดบวม”