รู้จักโรค “หัวใจเสียจังหวะ”

รู้จักโรค “หัวใจเสียจังหวะ”

สาเหตุและวิธีป้องกันการเกิด โรคหัวใจเสียจังหวะ เพื่อไม่ให้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

เห็นแค่ชื่อเรื่อง ผู้อ่านอาจจะกำลังอมยิ้มแล้วนึกถึงสำนวนในภาษาอังกฤษ “My heart skipped a beat.” ซึ่งแปลกว้างๆ ได้ว่า หัวใจหยุดไปจังหวะหนึ่งเพราะเจอเรื่องตื่นเต้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรัก แต่ โรคหัวใจเสียจังหวะ หรือ Arrhythmia หรือ Dysrhythmia ที่กำลังจะเล่า มีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดได้มากมาย (ไม่รวมความรักนะคะ) จึงควรป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ค่ะ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ อธิบายว่า “โรคหัวใจเสียจังหวะเกิดจากความผิดปกติของการสร้างหรือส่งกระแสไฟฟ้า (คลื่นไฟฟ้า) ของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจจึงผิดปกติ” ซึ่งพบใน 4 ภาวะ คือ โรคหัวใจเต้นเร็ว โรคหัวใจเต้นช้า โรคหัวใจเต้นแผ่วระรัว และโรคหัวใจขัด

โรคหัวใจเสียจังหวะ

 

ลักษณะอาการและอันตราย

ผู้ป่วยจะหายใจเหนื่อยหอบ อ่อนเพลียใจสั่น เครียด กังวล วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ และเป็นลม หากพบอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หัวใจเต้นแผ่ว แต่อาจเร็วมากหรือช้ามาก ร่างกายอ่อนแรงจนถึงหมดสติ ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด

โรคหัวใจเสียจังหวะอาจทำให้เสียชีวิตทันทีถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายหรือมีสิ่งอุดตันในหลอดเลือดปอด และอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองได้

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ปัจจัยเสี่ยง

- วิถีชีวิตที่เร่งรีบ หักโหมทำงาน นอนไม่หลับเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และไม่มีเวลาพักผ่อน

- อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย โมโหรุนแรง

- สูบบุหรี่เป็นประจำ ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง และใช้ยาเสพติด (ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและหลอดเลือดหัวใจหดตัวตีบลง)

โรคหัวใจเสียจังหวะ

วิธีป้องกัน

ลดสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคโดยเพิ่มการออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ กินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการฝึกการผ่อนคลาย ปรับพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิต ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและต้องตรวจสุขภาพสม่ำเสมอทุกปี

พักผ่อนให้มาก ๆ อย่าหักโหมทำงานหนักและดูแล “หัวใจ” ด้วยนะคะ

 

(ขอขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือ โรคของหัวใจและหลอดเลือด เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ)

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 344 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.