ถั่วเหลือง

3 เทคนิคการกิน ถั่วเหลือง ให้ได้ประโยชน์

เทคนิคการกิน ถั่วเหลือง

อย่างที่ทราบกันดี ถั่วเหลือง เป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมหาศาล แต่ในระยะหลังนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับการกินถั่วเหลืองมากขึ้น เพราะหากกินไม่ถูกวิธี ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และอาจเกิดอาการไม่สบายท้องได้ และจะยิ่งทำให้หลายคนเลิกกินถั่วเหลือง เพราะความเข้าใจที่ผิดๆ

ดังนั้น วันนี้เรามาเข้าใจหลักการในการกินถั่วเหลืองที่ถูกต้องพร้อมกันดีกว่านะคะ

  1. กินอย่างไรให้ได้โปรตีนครบถ้วน

การกินถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่ไม่เต็มที่ เพราะถั่วเหลืองมีประมาณกรดอะมิโนจำเป็นชนิดเมไธโอนีน (Methionine) และ ซีสเตอีน (Cystein) ต่ำ ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนคุณภาพดีเต็มร้อย คววรกินถั่วเหลืองควบคู่กับข้าวไม่ขัดขาว หรืองา เพราะจะช่วยเสริมให้มีกรดอะมิโนจำเป็นเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ถั่วเหลือง

  1. กินอย่างไรไม่ให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ

หากทำนมถั่วเหลืองดื่มเอง หรือซื้อนมถั่วเหลืองที่ดื่มต้มไม่สุกดี อาจทำให้สารเลซิทิน (Lecitins) ในถั่วเหลืองถูกทำลายไม่หมด เมื่อกินเข้าไปแล้วอาจส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติได้ หากเกิดอาการนี้เฉียบพลันกลายเป็นอาการอาหารเป็นพิษ (ในระยะครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง) โดยมีอาการท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนได้

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ แนะนำให้ต้มนมถั่วเหลืองให้เดือดนานอย่างน้อย 10 นาที หรือซื้อนมถั่วเหลืองที่ได้มาตรฐานมาดื่ม

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

3. กินอย่างไม่ให้ท้องอืด

หลายคนดื่มนมถั่วเหลืองแล้วมีอาการท้องอืด ส่วนหนึ่งเนื่องจากในถั่วเหลืองมีส่วนประกอบของน้ำตาลโอลิโกแซกคาไรด์ (Oligosaccharide) ที่ย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่แล้วเกิดเป็นกรดและแก๊ส จึงอาจทำให้เกิดมีอาการท้องอืด จุกเสียด แน่น หลังดื่มนมถั่วเหลืองได้ โดยหลายคนอาจเกิดอาการเสียดท้องรุนแรง ใช้เวลาพักใหญ่จึงหาย

สำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้คือ สถาบันโภชนาการแนะนำวิธีลดปริมาณน้ำตาลโอลิโกแซกคาไรด์ง่ายๆ คือ ทำนมถั่วเหลืองดื่มเองด้วยเทคนิคดังนี้ โดยต้มเมล็ดถั่วเหลืองจนเดือด จากนั้นนำออกมาแช่น้ำเย็นทันที พักไว้ 8 – 16 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาทำเครื่องดื่ม หรือประกอบอาหาร ก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ถั่วเหลือง

ไขข้อสงสัย เรื่องการกินถั่วเหลือง

  • กินนมถั่วเหลืองแล้วเป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือ

จากข้อมูลที่ว่า ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ในถั่วเหลือง เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า เอสโตรเจน (estrogen) โดยตัวสารไอโซฟลาโวนมีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง รวมถึงช่วยป้องกันความผิดปกติที่เกิดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้หญิงวัยทองด้วย โดยจากการรวบรวมงานวิจัยจากสถาบันชั้นนำที่ศึกษาสุขภาพของผู้หญิงวัยก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน ทั้งกลุ่มที่ร่างกายแข็งแรง และกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม โดยให้กินอาหารที่มีไอโซฟลาโวนในปริมาณ 36- 100  มิลลิกรัมต่อวัน นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พบว่า ไม่พบความผิดปกติบริเวณเยื่อบุผิวเต้านมในกลุ่มคนที่ร่างกายแข็งแรง ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งก็ไม่พบจำนวนเซลล์มะเร็งที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

จึงสรุปได้ว่า ไอโซฟลาโวนซึ่งพบมากในถั่วเหลือง ไม่ได้มีผลให้เกิดมะเร็งเต้านมนั่นเอง

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 320 เขียนโดย ธิษณา เรียบเรียงโดย ศุภรา

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.