มีอาการ ปวดท้องน้อย ผิดปกติ อาจป่วยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ใครที่มีอาการ ปวดท้องน้อย มากผิดปกติ อยากให้ลองสังเกตอาการให้ดี และพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดค่ะ วันนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข จะมาพูดเกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ลักษณะอาการเป็นอย่างไร อันตรายมากน้อยแค่ไหน มาอ่านกันเลย
ว่าด้วยเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
วันนี้มาคุยกันถึงโรคฮิตอีกโรคหนึ่งค่ะ นั่นคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่ควรจะอยู่ในโพรงมดลูก กลับกระจายไปอยู่นอกมดลูก เช่น ที่เยื่อบุช่องท้อง ผิวมดลูก
กล้ามเนื้อมดลูก รังไข่ (ช็อกโกแลตซีสต์) ผิวลำไส้ ผิวกระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ ทำให้เกิดอาการน่าวิตกหลายๆอย่าง เช่น ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดมดลูก ปวดท้องเรื้อรัง ปวดเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะและถ่ายอุจจาระ มีลูกยาก ฯลฯ
โรคนี้ฮิตอย่างไร มาฟังเหตุผลเลยค่ะ
1. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่พบได้มากถึงร้อยละ 50 ในวัยรุ่นที่มีอาการปวดท้อง ปวดประจำเดือน จนต้องได้รับการส่องกล้องตรวจภายใน
2. ผู้หญิงที่มีลูกยากจะพบโรคนี้ร้อยละ 9 – 50 ขณะที่ผู้ไม่มีภาวะนี้พบเพียงร้อยละ 6.7
3. ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์(อายุ20 – 40 ปี) ที่มีอาการปวดท้อง พบโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ร้อยละ 12-32
4. เชื่อว่าโรคนี้มีบุคลิกของโรค คือ เป็นสาวโสดผอมสูง ขยันขันแข็ง เจ้ากี้เจ้าการ ไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ เป็นนักบริหาร
5. ผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ได้แก่ คนไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ประจำเดือนมาเร็ว ประจำเดือนหมดช้า ประจำเดือนมามาก มานาน มดลูกผิดปกติ ส่วนผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ต่ำได้แก่ คนแต่งงานเร็วมีลูกเร็ว มีลูกหลายคน ให้นมลูกนาน ประจำเดือนมาช้า (มาหลังอายุ 14 ปี) ประจำเดือนหมดเร็ว
สาเหตุและอาการ
ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีทฤษฎีการเกิดโรคนี้ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด ชื่อว่า ทฤษฎีของแซมป์สัน (Sampson’s Theory) หรือทฤษฎีการไหลย้อนกลับของประจำเดือน โดยเชื่อว่า ระหว่างมีประจำเดือนจะมีการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในท่อนำไข่และช่องท้อง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาปนกับประจำเดือน ไปเจริญเติบโตในที่ต่างๆที่ประจำเดือนไหลย้อนกลับไปถึง
อาการ
1. ปวดท้องเรื้อรัง ปวดมดลูก ปวดประจำเดือน ปวดเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปวดหลัง อาการปวดนั้นเป็นสาเหตุนำที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 75
2. ระบบลำไส้มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดเวลาถ่าย ถ่ายลำบาก ท้องผูก ท้องอืด ท้องเสีย เลือดออกทางทวารหนัก โดยมักจะสัมพันธ์กับรอบเดือน
3. กระเพาะปัสสาวะมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด โดยมักจะสัมพันธ์กับรอบเดือน
4. มีลูกยาก
5. มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
6. อ่อนเพลียเรื้อรัง
การรักษา
การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ด้วยวัตถุประสงค์ในการรักษาแตกต่างกัน หากอยู่ในภาวะมีลูกยาก ต้องการให้มีลูกง่าย อาจต้องผ่าตัดรักษาด้วยการส่องกล้อง เพื่อกำจัดพังผืด กำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่ เลาะช็อกโกแลตซีสต์ออก และทำเด็กหลอดแก้ว หากมีอาการมากและมีลูกพอแล้ว อาจจะผ่าตัดมดลูกและรังไข่ที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ทิ้งไป แต่หากต้องการรักษาเพื่อลดอาการปวดและลดความก้าวหน้าของโรค มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
1. เฝ้าดูอาการ ทำในผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก หรือในคนที่ใกล้หมดประจำเดือน เพราะโรคนี้มักจะหายไปเมื่อหมดประจำเดือน
2. รักษาตามอาการ สำหรับผู้ที่เป็นไม่มาก สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวด
3. ใช้ฮอร์โมน เช่น กินยาคุมกำเนิด เหมาะสำหรับคนที่มีอาการน้อย ซึ่งนอกจากลดความปวดลงแล้ว ยังลดความก้าวหน้าของโรคได้ด้วยยาคุมกำเนิดไม่มีผลทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และไม่มีข้อห้ามสำหรับคนที่ตัดเนื้องอกเต้านม กรณีแพ้ยาคุมกำเนิดหรือไม่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิด สามารถเลือกใช้ยาอื่นๆตามแพทย์แนะนำ ได้แก่ จีเอ็นอาร์เอช อะโกนิสต์(Gonadotropin-releasing Hormone Agonist) โปรเจสติน ดานาซอล (Danazol) อะโรมาเตส อินฮิบิเตอร์(Aromatase inhibitors) โดยพบว่ายาแต่ละชนิดได้ผลในการรักษาใกล้เคียงกัน
(ที่มา : คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 363)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ชวนทำความรู้จัก ที่มาของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด : มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น