สารอาหารบางชนิดก็ไม่ถูกกับโรคบางโรค งั้นมาดูกันว่า โรคกับสารอาหารควรเลี่ยง มีอะไรบ้าง หากได้รับจะเป็นอย่างไร
สารอาหารบางชนิดก็เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ และดีต่อสุขภาพร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า โรคบางโรคนั้นก็ไม่ควรได้รับสารอาหารเหล่านี้ เพราะอาจเป็นการทำร้ายร่างกายได้ แล้ว โรคกับสารอาหารควรเลี่ยง นั้นมีอะไรบ้าง
โรคกับสารอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- เบาหวาน VS น้ำมันปลา
คุณป้อม ชนิกา จรจำรัส นักกำหนดอาหารอธิบายทั้งข้อดีและข้อเสียของน้ำมันปลาต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานว่า
“มีข้อมูลทั้งด้านบวกและด้านลบแต่โดยรวมก็ถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียคือช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สำหรับบางคน ทีนี้ที่เป็นด้านลบและต้องระวังก็คือ บางคนอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้
“วิธีที่ดีที่สุดคือ กินแล้วต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลจากการเจาะเลือดปลายนิ้วว่าช่วงที่กินน้ำมันปลามีระดับน้ำตาลขึ้นลงเป็นอย่างไร โดยไม่มีปัจจัยเรื่องอาหารที่เรากินตามปกติมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประเมินได้ทางหนึ่ง
“ปริมาณที่สามารถกินได้อย่างปลอดภัยคือ 1 กรัมต่อวัน ของปริมาณ EPA บวก DHA ซึ่งในท้องตลาดน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม บางครั้งจะมี EPA บวก DHA อยู่แค่ 30 เปอร์เซ็นต์เอง (คือ 300มิลลิกรัม) ถ้าเป็นชนิดที่สกัดบริสุทธิ์ขึ้น เช่นแบบ Concentrated Fish Oil ก็จะมี EPA บวก DHA อยู่ที่ 50เปอร์เซ็นต์ (คือ 500 มิลลิกรัม)”
- ความดันโลหิตสูง VS โสม
“โสมอาจไม่เหมาะกับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง เพราะโสมทำให้เส้นเลือดบีบตัวแรงขึ้น เกิดการหดรัดตัว ทำให้ความดันสูงขึ้นได้ อย่างตอนนี้ที่เราเห็นๆ กันก็จะมีพวกวิตามินรวมที่ใส่โสมสกัดซึ่งคนที่แข็งแรงเป็นปกติสามารถกินวิตามินรวมได้ แต่สำหรับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง ถ้าจะกินจริงๆ ก็ควรเลือกแบบที่ไม่ผสมสารอื่นๆ จะดีกว่า”
เมื่อคุณป้อมอธิบายถึงตรงนี้ ฉันเองรู้สึกโล่งอกและนึกขอบคุณความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเพราะในบรรดาอาหารเสริมที่คุณอาฝากซื้อนั้น ทั้งโสมและน้ำมันปลาต่างก็มีสิทธิ์เป็นอันตรายต่อโรคที่ท่านเป็นได้ทั้งสิ้น
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
- โรคหัวใจ VS อาหารเสริมแบบชงละลายน้ำในปริมาณมากและอาหารโซเดียมสูง
นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมเล่าถึงอาหารเสริมบางอย่างที่ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องระมัดระวังในการบริโภคว่า
“โรคหัวใจต้องระวังเรื่องอาหารเค็มและเรื่องของน้ำที่มากเกินไป เช่น อาหารเสริมบางชนิดเป็นชนิดที่ละลายน้ำปริมาณมากๆ จะไม่ดีกับคนเป็นโรคหัวใจเพราะจะทำให้มีอาการบวมได้
“นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องปริมาณโซเดียมสูงด้วย ดังนั้นเมื่อซื้ออาหารหรืออาหารเสริม ต้องดูข้างกล่องทุกครั้งว่ามีโซเดียมสูงหรือเปล่า”
- โรคตับ VS อาหารเสริมจำพวกไขมัน
คุณหมอสุวินัยเล่าต่อถึงคนที่เป็นโรคตับว่าควรต้องระวังอะไรบ้าง
“ตับมีหน้าที่ย่อยไขมัน เมื่อตับทำงานไม่ปกติ การกินอาหารเสริมที่เป็นน้ำมันอย่างที่เป็นเม็ดใสๆเช่น วิตามินอี อีฟนิ่งพริมโรส ก็อาจทำให้ไขมันในเลือดสูงได้
“อีกอย่าง อาหารเสริมพวกนี้เขาทำให้ฝรั่งกิน ขนาดที่ให้กินจึงค่อนข้างสูง เพราะฝรั่งตัวเขาค่อนข้างใหญ่ เช่น วิตามิน ก ฝรั่งเขากินครั้งละสองเม็ด สาม มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) คนไทยอาจต้องลดขนาดการกินลง ไม่อย่างนั้นอาจได้รับเกินปริมาณก็ได้ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับจะมีปัญหาเรื่องการย่อย เพราะตับต้องขับสารพิษ ถ้าขับของเสียครั้งละมากๆ ตับก็เสื่อมได้เหมือนกัน”
คุณป้อมเสริมว่า
“การกินน้ำมันของคนเป็นโรคตับที่การย่อยและการดูดซึมไม่ดี แม้จะเป็นน้ำมันปกติก็อาจทำให้จะรู้สึกแน่นอึดอัดท้อง
“อีกอย่างที่อาจพบได้ก็คือ การกินวิตามินบางอย่างที่ละลายไขมัน เช่น วิตามินอี วิตามินเอ ทั้งในรูปของวิตามินและอาหารบางอย่างที่เติมวิตามินเหล่านี้ลงไป รวมไปถึงเกลือแร่ (ได้แก่ เหล็ก) สำหรับคนที่ตับทำงานไม่ดีก็ทำให้เกิดการสะสมได้ อาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษคือมีวิตามินพวกนี้มากเกินไป”
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
- โรคไต VS ผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียมอาหารเสริมประเภทโปรตีน วิตามินและเกลือแร่บางชนิด
“ต่อจากโรคตับ หมอขอต่อที่โรคไต สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตจะเสื่อมลงจึงต้องระวังอาหารเสริมจำพวกโปรตีนเพราะถ้าได้รับเข้าไปมากๆ จะทำให้โปรตีนเกินทำให้มีของเสียค้างในร่างกาย”
คุณป้อมเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยดูแลผู้ป่วยโรคไตรายหนึ่งว่า
“เคยพบผู้ป่วยโรคไตรายหนึ่งที่อาการกำเริบอย่างไม่คาดคิด ตอนแรกก็ไม่รู้สาเหตุ แต่ไปเจอขวดน้ำปลาลดโซเดียมในครัวก็เลยได้รู้ว่าอาการทรุดเพราะความไม่รู้ คือผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่เข้าใจว่ากินเค็มไม่ดี จึงหลีกเลี่ยงโซเดียม แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไม่ใช้โซเดียมก็จะมีการใช้เกลือโพแทสเซียมแทน ปรากฏว่าทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงมากๆ เพราะไตมีปัญหาในการขับออก อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดแต่ว่าไมคลายจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากน้ำปลาแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารที่เติมโพแทสเซียมแทนโซเดียมก็ยังมีอีก เช่น ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ”
นอกจากโปรตีนและโพแทสเซียมคุณป้อมเสริมว่า ผู้ป่วยโรคไตควรระวังการรับประทานอาหารเสริมหรืออาหารที่มีการเติมวิตามินและเกลือแร่ด้วยว่า
“คนที่เป็นโรคไตต้องคำนึงถึงระยะการดำเนินของโรคด้วย เช่น ช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีอาการต้องระวังในเรื่องของวิตามินและเกลือแร่บางตัว เช่น วิตามินรวมวิตามินเสริมบางอย่างที่มีโพแทสเซียม แมกนีเซียม หรือฟอสฟอรัสสูงกว่าปกติเพราะไตขับของเสียไม่ดี”
- ไทรอยด์ VS อาหารเสริมไอโอดีน
คุณป้อมเล่าถึงอาหารบางอย่างที่อาจมีผลเสียต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์ว่า
“สำหรับไทรอยด์ต้องระวังพวกอาหารเติมสารอาหาร (Fortified Food)โดยเฉพาะอาหารเสริมไอโอดีน เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกล่อง อาหารซอง โรคไทรอยด์เป็นพิษบางชนิดต้องระวังการรับประทานอาหารจำพวกนี้
“นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นพบว่า การกินไอโอดีนในปริมาณมากเกินไปหรือกินอาหารทะเลมากๆ มีผลทำให้เกิดโรคไทรอยด์ที่ชื่อโรค Hashimoto’s Thyroiditis ขึ้นได้ ดังนั้นการกินอาหารธรรมชาติจะดีที่สุดจ้ะ”
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
- โรคทาลัสซีเมีย VS เหล็ก วิตามินซี
เมื่อถามคุณหมอสุวินัยถึงผลกระทบต่อโรคในระบบเลือด คุณหมออธิบายว่า
“โรคในระบบเลือดที่ควรระวังก็มีโรคทาลัสซีเมีย คือคนที่เป็นโรคนี้มีเลือดจางก็จริง แต่ธาตุเหล็กเขาจะเยอะ ถ้าได้รับสารอาหารที่เป็นเหล็กเข้าไปมากๆ อีกก็อาจเกิดการสะสมในตับ ทำให้เกิดอาการตับวายจากธาตุเหล็กคั่งได้ ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับกลุ่มโรค”
นอกจากที่คุณหมอเล่าให้ฟังแล้วหนังสือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีที่สัมพันธ์กับธาตุเหล็กในร่างกายของคนที่เป็นโรคทาลัสซีเมียด้วยว่า ต้องระมัดระวังไม่ให้ได้รับวิตามินซีในปริมาณมาก เนื่องจากระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้ระดับธาตุเหล็กในเลือดสูงขึ้น
เพราะวิตามินซีไปเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร
ก่อนจากกันคุณหมอและคุณป้อมยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อาหารจากธรรมชาติคือแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุด
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 251