วิธีกินปวยเล้ง ป้องกันโรคสมองเสื่อม
ชวนชาวชีวจิตมารับประทาน ปวยเล้ง เพื่อ ป้องกันโรคสมองเสื่อม กัน! ซึ่งปวยเล้งมีชื่อเรียกหลากหลาย ทั้งปวยเหล็ง สปิแนช ผักโขมจีนจนพากันสับสนว่าชื่อไหนจริง ชื่อไหนลวง
ประโยชน์ของปวยเล้งต่อสมอง
ปวยเล้งคือหนึ่งในผักใบเขียวที่นักวิจัยจาก Brigham and Women’s Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ช่วยชะลออาการสมองเสื่อมในคนสูงอายุได้นักวิจัยได้ทำการศึกษาโดยให้อาสาสมัครหญิงวัย 60 ปี ร่วมทำแบบทดสอบความจำและตอบคำถามเรื่องการกินอาหารในชีวิตประจำวัน
หลังจากนั้น 10 ปี นักวิจัยให้อาสาสมัครหญิงชุดเดิมทำแบบทดสอบอีกครั้ง การศึกษาพบว่า แม้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองในหญิงสูงวัยส่วนใหญ่ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่กินผักใบเขียว เช่น ปวยเล้งเป็นประจำจะมีคะแนนความจำดีกว่าผู้ที่ไม่กิน
อีกทั้งยังพบว่า หากกินผักสัปดาห์ละ 8 ทัพพี สมองจะทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่กินผักน้อยกว่าสัปดาห์ละ 5 ทัพพี แม้ไม่ได้ทดลองกับเพศชาย แต่นักวิจัยเชื่อว่าจะมีผลเช่นเดียวกันพร้อมเสริมว่า นอกจากปวยเล้ง การกินบรอกโคลีและผักกาดหวาน (Romaine Lettuce) ก็ช่วยต้านโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน
วิธีกินปวยเล้งให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ศูนย์โภชนาการอาหารและสุขภาพ (The Center for Nutrition, Diet and Health) มหาวิทยาลัยแห่งเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (University of the District of Columbia) ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะวิธีซื้อและเตรียมปวยเล้งก่อนปรุงอาหารตามขั้นตอนนี้เลือกซื้อ ควรเลือกลำต้นสีเขียวอ่อน มีใบใหญ่สีเขียวเข้ม ไม่ควรเลือกใบหนาสีเหลือง เพราะเป็นผักที่ใกล้เสียแล้วเก็บรักษา หากไม่ทำอาหารทันที ควรล้างทำความสะอาด แล้วเก็บในถุงพลาสติกหรือกล่องใส่อาหาร
แช่ในตู้เย็นช่องเก็บผัก สามารถเก็บได้นาน 3 - 4 วัน
เมื่อพร้อมแสดงฝีมือ ก็เลือกสัก 1 เมนู ปวยเล้งสามารถกินเป็นผักสดกับน้ำพริก หั่นใส่สลัด หรือ
ทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มจืด สุกี้ ผัดไฟแดงก็อร่อย ได้ประโยชน์และบำรุงสมองในคราวเดียว
ข้อควรระวังการกินปวยเล้ง
ปวยเล้งมีประโยชน์ แต่ก็อาจก่อโทษหากกินมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคนิ่วสาเหตุหนึ่งของโรคนิ่วเกิดจากร่างกายดูดซึมและขับสารออกซาเลตผิดปกติ เมื่อสารนี้สะสมจนถึงจุดอิ่มตัวจะทำให้เกิดผลึกก้อนนิ่วได้ปวยเล้งมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) สูง
ข้อมูลจากกลุ่มวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ กองโภชนาการ พบว่า ปวยเล้งมีกรดออกซาลิก 970มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในขณะที่ผักคะน้าและผักกาดหอมมีประมาณ 7.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัมเท่านั้น แม้สามารถกินกรดออกซาลิกจากอาหารได้วันละ 22,000 มิลลิกรัมหรือ 22 กรัม (สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม) โดยไม่เกิดโรค แต่เพื่อลดความเสี่ยงผู้ที่มีประวัติเป็นโรคนิ่วหรือเป็นโรคนิ่วอยู่ขณะนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยง
รู้จักปวยเล้ง แถมวิธีกินอย่างฉลาด ไม่ว่าวัยไหนก็สมองใส ความจำแจ๋วได้ค่ะ
ข้อมูลจาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต
บทความน่าสนใจอื่นๆ