มะขาม (Tamarind)
นับได้ว่าเป็นผลไม้พื้นบ้านที่คนไทยรู้จักมาช้านาน อีกทั้งเราสามารถนำส่วนต่างๆ ของมะขามมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคได้แทบทั้งสิ้น เช่น ในเนื้อมะขามมี สารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ซึ่งช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกตินอกจากนั้นยังมีกรดอินทรีย์ (Organic acid) อยู่หลายชนิด เช่น กรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) และกรดซิตริก (Citric acid) ทำให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เพิ่มกากใยอาหารและช่วยหล่อลื่นให้ขับถ่ายสะดวก
แก้สารพัดโรคจากมะขาม
การรักษา 1 ทาแก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ส่วนที่ใช้ เปลือกของเมล็ด
วิธีใช้ นำเมล็ดมะขามสุกไปคั่วไฟให้สุก กะเทาะเอาแต่เปลือก ไปบดให้ละเอียด แล้วคลุกกับน้ำมันละหุ่งหรือน้ำมัน มะพร้าว พอกแผลวันละ 2 – 3 ครั้ง
การรักษา 2 รักษาฝีและแผลเรื้อรัง
ส่วนที่ใช้ เมล็ดมะขาม
วิธีใช้ คั่วเมล็ดมะขามให้สุก กะเทาะเปลือกทิ้ง นำไปแช่น้ำจนนิ่ม ตำพอกแผล
การรักษา 3 แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
ส่วนที่ใช้ เมล็ดมะขาม
วิธีใช้ ผ่าเมล็ดตามแนวขวาง นำส่วนที่ถูกผ่าไปฝนกับน้ำมะนาว ใช้ปิดรอยแมลงกัด เมล็ดมะขามจะช่วยดูดพิษออกมาได้

การรักษา 4 แก้ไอ ขับเสมหะ
ส่วนที่ใช้ เนื้อมะขาม
วิธีใช้ นึ่งเนื้อมะขามให้สุก คั้นกับน้ำให้ข้นๆ เติมเกลือลงไปเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ
กินผลไม้เป็นยาอย่างไรไม่ให้มีผลข้างเคียง
เมื่อเห็นเรื่องสรรพคุณทางยาของผลไม้ใกล้ตัวไปเรียบร้อยแล้ว จะอธิบายต่อถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยาสมุนไพรโดยไม่มีความรู้ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ ตำรายาโบราณ ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กระทรวงสาธารณสุขว่า
ไม่เฉพาะแต่ผลไม้ไทย สมุนไพรทุกชนิดแม้จะมีผลข้างเคียงในการรักษาค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน แต่หากใช้โดยไม่ระมัดระวังก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นก่อนนำผลไม้หรือสมุนไพรใกล้ตัวมาปรุงเป็นยา ควรศึกษาและหาทางป้องกันดังต่อไปนี้
- กินแต่น้อยเพื่อความมั่นใจ หากไม่เคยกินยาขนานนั้นมาก่อน ควรเริ่มกินในปริมาณที่น้อยๆ เช่นกินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดมาให้ เพื่อรอดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นค่อยกินต่อไป
- อย่าใช้ยาเกินขนาดและผิดประเภท เป็นต้นว่า ยาบางชนิดใช้ต้มผสมน้ำดื่มก็ไม่ควรนำไปต้มจนงวด เพราะการกินยาที่มีความเข้มข้นเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- ศึกษาพิษของยาก่อนกิน ก่อนที่จะใช้ยาสมุนไพรไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ควรรู้พิษแลผลข้างเคียงของยาเสียก่อน เพื่อจะได้ระมัดระวังมากขึ้น
- ไม่ควรกินยาตัวเดียวติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น แม้ยาสมุนไพรส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงในระยะเฉียบพลัน แต่การกินติดต่อกันนานๆอาจทำให้เกิดการสะสมและเป็นอันตรายได้
คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 202
บทความน่าสนใจอื่นๆ
น้ำผักผลไม้ต้านมะเร็ง ทำวิธีไหนปังสุด