2 วิธีกิน โปรตีน ป้องกันโรค
โปรตีน เป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวัน หากเรากินในปริมาณที่เหมาะสม โปรตีนสามารถช่วยป้องกันโรคและลดไขมันส่วนเกินในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในแต่ละวัยมีความต้องการโปรตีนแตกต่างกัน ข้อมูลปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake) สำหรับคนไทย ระบุว่า
เด็กอายุ1 – 3 ปี เป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต มีความต้องการโปรตีน ปริมาณสูง ใน 1 วันจึงต้องการโปรตีน 1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
เมื่ออายุ 4 – 15 ปี ความต้องการโปรตีนเริ่มลดลงเป็น 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
อายุ 16 – 18 ปี ต้องการโปรตีน 1.1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
เมื่อมีอายุ 19 ปีขึ้นไป ความต้องการโปรตีนจะคงที่เท่ากับ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
หากจะลองคำนวณปริมาณความต้องการโปรตีนใน 1 วันสามารถทำได้ เช่น คุณเออายุ 20 ปี มีน้ำหนักตัว 45 กิโลกรัม ดังนั้น ใน 1 วัน ร่างกายต้องการโปรตีน 45×1 = 45 กรัม ข้อมูลจากรายการอาหารแลกเปลี่ยนไทย สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ทำให้ทราบว่าอาหารแต่ละชนิดมีปริมาณโปรตีนแตกต่างกัน เช่น ข้าวและผัก 1 ทัพพีให้โปรตีน 2 กรัม เนื้อปลา 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) เต้าหู้แข็งครึ่งแผ่น (60 กรัม) น้ำเต้าหู้1 แก้ว (7 กรัม)
โปรตีนเพื่อคนลดน้ำหนัก โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน ชีวจิต แนะนำอาหารสูตร 2 โดยเน้นให้เพิ่มปริมาณโปรตีนเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ลดปริมาณข้าวหรือกลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตลงเหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ มีผัก 35 เปอร์เซ็นต์ และเบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์
การเพิ่มปริมาณโปรตีน ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต สามารถช่วย ป้องกันและมีส่วนช่วยในการรักษาโรคเรื้อรังดังกล่าวได้จริง ยืนยันโดยวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ในหัวข้อเรื่อง Protein in optimal health: heart disease and type 2 diabetes ซึ่งระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนโปรตีนและลดคาร์โบไฮเดรตในอาหารสามารถช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดได้
โดย วิธีการดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการลดน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคหัวใจ โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ตลอดจนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายงานระบุว่า สามารถลดระดับไขมันร้ายในเลือด เช่น ไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) แอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol) เพิ่มระดับไขมันดีที่ ช่วยนำคอเลสเตอรอลร้ายไปกำจัดที่ตับ คือ เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol) และลดระดับน้ำตาลในเลือด
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนอาหารควรทำควบคู่กับการออกกำลังกายจะให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น วารสาร Metabolism: Clinical and Experimental ทดลอง เปรียบเทียบชุดอาหาร 2 ชุดกับอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับชุดอาหารปกติ คือ มีโปรตีน 11 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 65 เปอร์เซ็นต์ และไขมัน 24 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มสองได้รับชุดอาหารที่เพิ่มโปรตีนรวม 23 เปอร์เซ็นต์ ลดคาร์โบไฮเดรตเหลือ 53 เปอร์เซ็นต์ และมีไขมัน 24 เปอร์เซ็นต์ หลัง 5 สัปดาห์
เมื่อตรวจเลือดอาสาสมัคร พบว่ากลุ่มที่ได้รับชุด อาหารเพิ่มโปรตีน ลดคาร์โบไฮเดรต มีระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด ลดลงมากกว่าอีกกลุ่ม 6.5 เปอร์เซ็นต์ มีระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล ลดลงมากกว่า 6.4 เปอร์เซ็นต์ และมีระดับเอสแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น มากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์
โปรตีนเพื่อคนโรคไต
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการฟอกเลือด ต้องการอาหารที่ให้โปรตีนต่ำ เพราะไตเสื่อม ร่างกาย จึงไม่สามารถกำจัดสารพิษที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีน เช่น ยูเรีย (Urea) ครีเอตินีน (Creatinine) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สารพิษคั่งค้างในร่างกาย ทำให้เกิดอันตราย
ดังนั้น หากไม่ปรับลดการกินโปรตีน ไตจะทำงานหนักและเสื่อมเร็วขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไป ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรกินโปรตีน ประมาณ 3 ใน 4 ของคนปกติ หรือควรน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของไต โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าควรจะกินอาหารประเภทโปรตีนมากหรือน้อยเพียงใด
เมื่อกินโปรตีนได้อย่างจำกัด ผู้ป่วยจึงต้องการ โปรตีนที่มีกรดแอมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน ซึ่งหมายถึงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น ปลา และเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายโปรตีนมาใช้เป็นแหล่งของพลังงาน ผู้ป่วยจึงควรกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือข้าวให้เพียงพอร่วมด้วย โดยเน้นอาหาร ประเภทข้าวแป้งที่มีโปรตีนต่ำ เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว เซี่ยงไฮ้ สาคู แป้งมัน แป้งข้าวโพด
กินโปรตีนให้เป็น ไม่ว่าจะมาจากเห็ด ถั่ว หรือ ปลา รับรองว่าช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้นได้จริงๆค่ะ
(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 359)
บทความน่าสนใจอื่น