เช็คอาการจิตป่วย ทดสอบอารมณ์ส่อโรค วิตกกังวล
วิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้เป็นปกติในมนุษย์ เพื่อเตรียม พร้อมในการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ความเครียดต่างๆ ซึ่งแสดงออกทั้งในทาง ความคิดและความรู้สึกทางกาย ผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดพัฒนาสิ่งต่างๆ แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้นมากเกิน ควบคุมไม่ได้ หรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ก็จัดเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลรักษา
ว่าด้วย “โรคกลุ่มวิตกกังวล”
นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา อธิบายไว้ว่า
“ความกังวลเล็กน้อยนั้นเป็นผลดี เพราะทำให้รู้จักเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต แต่ถ้ามากเกินไปจนเป็นผลกระทบต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวัน ก็ถือได้ว่าเป็นอาการของโรคกลุ่มวิตกกังวล”
ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท
1. โรควิตกกังวล…ความกลัวเกินเหตุ
การวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ซึ่งมักเกิดความวิตกในเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจมาก่อน บางเรื่องผ่านไปสักพักอาจลืม แต่บางเรื่องอาจยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก จนเกิดความอึดอัดหรือหวาดกลัวอันตรายมากเกินไป คืออาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
2. หวาดกลัวรุนแรง
จากหนังสือจิตเวชศาสตร์รามาธิบดี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ไว้ว่า ความกลัวจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างควบคู่กัน
- อย่างแรกคือ ตัวกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุ
- อย่างที่สองคือ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีความกลัวรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นซ้ำๆ และไม่สามารถระงับความกลัวนั้นได้ อาการหวาดกลัวจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะและรวดเร็วกว่าคนปกติ เมื่อตกอยู่ในเหตุารณ์หรือสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว